กระดูกหัก รักษาอย่างไร

กระดูกหัก รักษาอย่างไร

กระดูกหัก…รักษาอย่างไร

 

            กระดูกของคนเรานั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมีหน้าที่รับน้ำหนัก ส่งถ่ายน้ำหนัก และช่วยทรงตัวขณะนอน ยืน เดิน และวิ่ง กระดูกทำหน้าที่เป็นที่ยึดเกาะของเอ็นและกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้เมื่อมีการหดตัวของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้กระดูกยังช่วยป้องกันอันตรายให้อวัยวะที่สำคัญ เช่น สมอง ไขสันหลัง หัวใจ ปอด ตับ เป็นต้น     

            ภาวะกระดูกหัก คือภาวะที่มีการแยกออกของเนื้อกระดูกหรือกระดูกอ่อน เยื่อหุ้มกระดูก (periosteum) และเนื่อเยื่อรอบๆ ซึ่งมีความหลากหลายทางความรุนแรง (severity) รูปแบบการหัก (morphology) และตำแหน่งของกระดูกที่หัก (location)

            กลไกการเกิดกระดูกหักนั้นเกิดจากแรงกระทำต่อกระดูกที่มากเกินขีดจำกัดที่กระดูกจะทนไหว สาเหตุการเกิดกระดูกหักนั้นอาจมาจากอุบัติเหตุทางการจราจร การตกจากที่สูง หรือจากแรงกระแทกโดยตรงที่กระดูก เช่น การถูกตีการถูกชน เป็นต้น หรือเป็นจากแรงกระทำโดยอ้อม เช่น การหกล้มก้นกระแทกพื้นแล้วเกิดการหักของกระดูกคอสะโพก เป็นต้น กระดูกหักอาจเกิดจากการกระตุกหรือการหดตัวอย่างแรงของกล้ามเน้ือ เช่น การกระโดดแล้วหกล้ม ในท่างอเข่าทำให้กระดูกสะบ้าหัก จากแรงกระชากของกล้ามเนื้อต้นขาและเอ็นสะบ้า

            แรงกระทำที่เกิดซ้ำๆเช่นในนักวิ่งระยะไกล หรือทหารที่รับการฝึกหนัก สามารถทำให้เกิดภาวะกระดูกหักแบบล้า (stress Fracture)  นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของกระดูกเช่นผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) หรือโรคทางเมตาโบลิกอื่นๆ หรือมีเนื้องอกที่ทำลายกระดูก กระดูกสามารถหักได้เมื่อเกิดแรงกระทำเบาๆ เช่น การหกล้มเบาๆในบ้าน

            ภาวะกระดูกหักสามารถจำแนกได้เป็น กระดูกหักแบบปิด (closed fracture) และกระดูกหักแบบเปิด (open fracture) ภาวะกระดูกหักแบบปิดคือชนิดที่ไม่มีบาดแผลเชื่อมต่อระหว่างกระดูกหักไปสู่สภาวะภายนอก ส่วนภาวะกระดูกหักแบบเปิดคือชนิดที่มีบาดแผลเปิดเชื่อมต่อระหว่างกระดูกหักไปสู่สภาวะภายนอก เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่กระดูก

 

 

กระดูกหัก รักษาอย่างไร
รูปที่ 1: อาการแสดงของภาวะกระดูกหักแบบเปิดของกระดูกหน้าแข้ง

 

วัตถุประสงค์ของการรักษากระดูกหัก

  1. จุดประสงค์ของการรักษากระดูกหัก คือการทำให้กระดูกติด กระดูกที่ติดต้องมีความแข็งแรงเท่าเดิมหรือใกล้เคียงสภาพเดิม สามารถรับน้ำหนักได้เช่นเดิม
  2. ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้งานได้ตามเดิม ซึ่งจำเป็นต้องมีความยาวของกระดูกและแนวกระดูกที่ปกติ มีกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่ดี และมีข้อต่อที่ยืดหยุ่น เคลื่อนไหวได้ดี

 

หลักการซ่อมแซมตัวเองของภาวะกระดูกหัก

การซ่อมแซมตัวเองหลังเกิดกระดูกหักมีลักษณะเฉพาะและซับซ้อน กระดูกเป็นเนื้อเยื่อที่มหัศจรรย์ สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ โดยกระดูกที่ซ่อมแซมแล้วจะมีลักษณะใกล้เคียงกระดูกปกติทุกประการ

            กระบวนการซ่อมแซมกระดูกนั้นประกอบด้วย 2 กระบวนการควบคู่กันไป ได้แก่ การซ่อมแซมแบบกระดูกอ่อนเป็นแม่แบบ (endochondral ossification) และการซ่อมแซมโดยการสร้างเนื้อกระดูก (intramembranous ossification)

            การซ่อมแซมผ่านกระดูกอ่อน (endochondral ossification) ร่างกายจะสร้างเนื้อกระดูกอ่อน (cartilage) ชนิด hyaline เป็นแบบแม่พิมพ์ก่อนและเริ่มขบวนการสร้างเนื้อกระดูกโดยการแทนที่เนื้อกระดูกอ่อน

            การซ่อมแซมโดยการสร้างเนื้อกระดูก (Intramembranous bone formation) เป็นขบวนการสร้างเนื้อกระดูกโดยการแทนที่เนื้อเยื่อชนิด mesenchyme โดยตรง ไม่ต้องผ่านการสร้างกระดูกอ่อน ดังรูปที่ 2

 

กระดูกหัก รักษาอย่างไร
รูปที่ 2: แสดงกลไกการซ่อมแซมกระดูก เริ่มต้นจากเลือดออกบริเวณรอยหักนั้นอุดมไปด้วยเซลล์ต้นกำเนิด (hematopoietic stem cells) ซึ่งใช้ในการซ่อมแซมกระดูก (ก), จากนั้นมีการสร้างกระดูกโดยผ่านกระดูกอ่อน (hyaline cartilage) และกระบวนการซ่อมแซมโดยการสร้างเนื้อกระดูกโดยตรง (Intramembranous bone formation) ไปพร้อมๆกัน (ข), กระดูกอ่อนบางส่วนถูกแทนที่ด้วยเนื้อกระดูก (woven bone) (ค), หลังจากมีการสร้างกระดูกแทนที่กระดูกอ่อนจนเชื่อมต่อรอยหักเข้าด้วยกันสนิท เนื้อกระดูกจะมีการจัดเรียงเนื้อเยื่อตามแนวแรงกระทำ (bone remodelling) เพื่อให้ได้เนื้อกระดูกที่มีความแข็งแรงเหมือนปกติ (ง)

 


 

รักษาภาวะกระดูกหักแบบไม่ผ่าตัด

            เป็นการรักษาโดยวิธีเข้าเฝือก (cast) การใส่เฝือกอ่อน (splint) การดึงถ่วงน้ำหนัก (traction) หรือการจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อ (immobilization) เพื่อลดการเคลื่อนไหวของกระดูกที่หัก การรักษาโดยการใส่เฝือกมีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมอียิปต์ โดยใช้ไม้และผ้า ซึ่งต่อมาการรักษาด้วยเฝือกไม้ก็มีในบันทึกของฮิปโปเครติส (Hippocrates) ส่วนเฝือกปูนที่เราใช้กันในปัจจุบัน (plaster of Paris) นั้นเริ่มมีในสมัยปีคริสตศักราช 1800 และยังใช้กันอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งต่อมาก็มีเฝือกจากวัสดุประเภทอื่นๆให้เลือกใช้เพิ่มขึ้น เช่น fiberglass หรือวัสดุสังเคราะห์อื่นๆ ข้อบ่งชี้ของการรักษาแบบไม่ผ่าตัดคือภาวะกระดูกหักแบบปิดที่ไม่เคลื่อน หรือเคลื่อนเพียงเล็กน้อย สามารถดัดให้เข้าที่ได้ด้วยเฝือก ซึ่งมีรายละเอียดของข้อบ่งชี้แตกต่างกันออกไปในกระดูกแต่ละบริเวณ ข้อดีของการรักษาแบบไม่ผ่าตัด คือผู้ป่วยไม่มีบาดแผล แต่ผู้ป่วยจะถูกจำกัดการเคลื่อนไหวจากการใส่เฝือกหรือพักในโรงพยาบาล ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของภาวะข้อยึดติด อาจทำให้กล้ามเนื้อลีบ หรือเกิดแผลกดทับได้

 

การรักษาภาวะกระดูกหักด้วยวิธีผ่าตัด

             พิจารณาเลือกวิธีรักษาด้วยการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีกระดูกหักที่ซับซ้อน การหักแบบไม่มั่นคง กระดูกหักเข้าข้อ กระดูกหักแบบเปิด กระดูกต้นขาหรือกระดูกหน้าแข้งหัก ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องฟื้นคืนสภาพกลับไปใช้งานได้เร็วที่สุด เช่น นักกีฬาอาชีพ หรือผู้ใช้แรงงาน การผ่าตัดมีขั้นตอนคือการจัดเรียงกระดูกให้เข้าที่และยึดตรึงกระดูกด้วยอุปกรณ์ชนิดต่างๆ หรือผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมในกระดูกหักบางชนิดที่ไม่สามารถยึดตรึงได้

            ข้อดีของการรักษาโดยการผ่าตัด คือ ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้เร็ว และสามารถกลับไปทำงานได้ในระยะเวลาอันสั้น ส่วนข้อเสียคือ มีความเสี่ยงจากการดมยาสลบ ความเสี่ยงจากการบาดเจ็บของเส้นเลือดหรือเส้นประสาทจากแผลผ่าตัด แผลติดเชื้อ หรืออาจต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อเอาอุปกรณ์ตรึงกระดูกในอนาคต

 

กระดูกหัก รักษาอย่างไร
รูปที่ 3: แสดงตัวอย่าง เหล็กแกนสอดในโพรงกระดูก (aก), เหล็กยึดตรึงกระดูกจากภายนอก (ข), เหล็กแผ่นและสกรูยึดตรึงกระดูก (ค), ลวดสำหรับยึดตรึงกระดูก (ง)

 


 

อุปกรณ์สำหรับรักษากระดูกหัก (Implants options for fracture)

  1. เหล็กแกนสอดในโพรงกระดูก (intramedullary nail) การใช้เหล็กแกนในการยึดตรึง กระดูกนั้น ใช้เทคนิคในการผ่าตัดเปิดแปลขนาดเล็กได้ โดยผ่าตัดเปิดแผลที่บริเวณปลายกระดูก จากนั้นจึงสอดเหล็กแกนเข้าไปในโพรงกระดูก โดยไม่จำเป็นต้องกระทบกระเทือนกับตำแหน่งที่ได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตามการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ไม่สามารถใช้ได้กับกระดูกหักทุกส่วน
  2. เหล็กยึดตรึงกระดูกจากภายนอก (external fixation) มักใช้กับผู้ป่วยที่มีกระดูกหักแบบแผลเปิด มีสิ่งสกปรกในแผล
  3. เหล็กแผ่นและสกรูยึดตรึงกระดูก (plate and screws) แต่เดิมจำเป็นต้องเปิดแผลยาวและเลาะกล้ามเนื้อมาก เพื่อยึดตรึงกระดูกด้วยวิธีนี้ แต่ปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดแบบแผลเล็กและบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อยสำหรับใส่เหล็กแผ่นและสกรูเช่นเดียวกัน (minimally invasive surgery)
  4. ลวดสำหรับยึดตรึงกระดูก (Kirschner wire fixation) เป็นลวดปลายแหลมขนาดเล็กใช้ตรึงกระดูกชิ้นเล็ก หรือกระดูกเด็ก
  5. ข้อเทียม (arthroplasty) ใช้ในกระดูกหักบางชนิดที่ไม่สามารถยึดตรึงได้ เช่นกระดูกคอสะโพกแบบเคลื่อนในผู้สูงอายุ (femoral neck fracture)

 

ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกหัก (complications of fracture)

            ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกหักระยะแรก (early complication) คือภาวะที่เกิดร่วมกับกระดูกหัก หรือเกิดขึ้นภายหลังกระดูกหักในช่วงแรก ได้แก่

  1. หลอดเลือดแเดงบาดเจ็บ เช่น ผู้ป่วยที่กระดูกต้นขาหัก อาจเกิดภาวะหลอดเลือดต้นขาฉีกขาดได้
  2. เส้นประสาทบริเวณใกล้เคียงกระดูกที่หักได้รับบาดเจ็บ
  3. ภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง (Compartment Syndrome) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลร้ายแรง ทำให้สูญเสียอวัยวะได้
  4. ผู้ป่วยที่กระดูกเชิงกรานหักแบบไม่มั่นคง มักมีการบาดเจ็บของอวัยวะภายในช่องท้องร่วมด้วย หรือมีการฉีกขาดของหลอดเลือดบริเวณเชิงกราน ทำให้เกิดการเสียเลือดได้มาก
  5. การสูญเสียการเคลื่อนไหวของร่างกาย ในผู้ป่วยสูงอายุที่กระดูกสะโพกหักและไม่ได้เคลื่อนไหวเนื่องจากกระดูกหัก ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมา ได้แก่ ปอดติดเชื้อ หลอดเลือดดำอุดตัน หรือแผลกดทับ เป็นต้น

 

            ภาวะแทรกซ้อนระยะหลัง (late complication) คือภาวะที่เกิดตามหลังการรักษากระดูกหักเป็นระยะเวลาหนึ่ง ได้แก่

  1. กระดูกติดช้า (delay union) หรือกระดูกไม่ติด (nonunion) อาจมีสาเหตุจากความซับซ้อนของกระดูกหัก การติดเชื้อ ปัจจัยของผู้ป่วย เช่น การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งจะกล่าวถึงเรื่องกระดูกไม่ติดโดยละเอียด ไว้ในหัวข้อถัดไปนะครับ
  2. อาการข้อติดแข็ง (joint stiffness) ผู้ป่วยมีพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อลดลง อาจเกิดจากการกายภาพบำบัดไม่เพียงพอ หรือการใส่เฝือกนานเกินไป
  3. กระดูกติดผิดรูป (malunion) เกิดจากการรักษาโดยการใส่เฝือกแล้วเฝือกไม่สามารถประคองให้กระดูกตรงได้ จากการยึดตรึงกระดูกอย่างไม่เหมาะสม หรือแนวกระดูกเปลี่ยนแปลงไประหว่างการรักษา
  4. เกิดภาวะกล้ามเนื้ออักเสบมีหินปูนจับ (Myositis Ossificans) ผู้ป่วยจะมีกระดูกเจริญเติบโตในกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ อาจมีอาการปวดตามมา หรือมีการเคลื่อนไหวของข้อลดลง
  5. กระดูกตามจากการขาดเลือด (avascular necrosis) ในกระดูกบางบริเวณ ที่มีเลือดมาเลี้ยงน้อย เช่น หัวกระดูกสะโพกและกระดูกทาลัส (talus)
  6. ภาวะกระดูกอักเสบติดเชื้อ (Osteomyelitis) มักเกิดตามหลังกระดูกหักแบบเปิดที่มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อมาก

 

สรุปแนวทางการรักษากระดูกหัก

            ภาวะกระดูกหัก สามารถรักษาได้ โดยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่ชำนาญ ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาภาวะกระดูกหัก จะต้องมีความสามารถในการวินิจฉัยและประเมินการบาดเจ็บที่เกิดร่วม ทั้งที่บริเวณเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาท นอกจากนี้ความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมกระดูกและความเข้าใจแนวทางการรักษากระดูกหักที่ถูกต้อง ยังสามารถลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดแก่ผู้ป่วยได้

            สัปดาห์ถัดไป ผมจะมาให้คำแนะนำสำหรับแนวทางการปฏิบัติตัวระหว่างการรักษากระดูกหักนะครับ

 

เอกสารอ้างอิง

    1. Rockwood and Greens Fractures in Adults, 9th edition, Wolters Kluwer, 2019.
    2. ธีรชัย อภิวรรธกกุล, Fracture Principles. Orthopaedic Trauma, คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2014.
    3. Thomas P Rüedi, Richard E Buckley, Christopher G Moran , AO Principles of Fracture Management, Second expanded edition, Thieme, 2007.
    4. รูปประกอบ https://pin.it/1KvRzT3