กระดูกสะโพกหัก …. ภัยเงียบในผู้สูงอายุ

hip fracture 1400x1400 - กระดูกสะโพกหัก .... ภัยเงียบในผู้สูงอายุ

ว่ากันด้วยเรื่องกระดูกสะโพกหัก ในคนแก่

 

                  เชื่อว่าหลายๆคนคงเคยได้ยินภาวะกระดูกสะโพกหักกันมาบ้าง ไม่ว่าจะจากประสบการณ์ตรงกับคนรู้จัก หรือจากแหล่งข้อมูลต่างๆ แต่ใครจะคิดว่าภาวะกระดูกสะโพกหักนั้นใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด โดยเฉพาะท่านที่เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุหรือบ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่ด้วย กระดูกสะโพกหักสามารถเกิดได้ทุกเมื่อและส่งผลกระทบร้ายแรงกว่าที่เราคิด ผู้สูงอายุที่มีกระดูกสะโพกหักนั้น มีอัตราการเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่ไม่เคยมีกระดูกหัก และยังพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ อีกมากมายที่ทำให้เสียชีวิตได้อีกด้วย

                  ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะว่าประชากรมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้นจากมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น และการดูแลตัวเองของประชาชนที่ดีขึ้น เมื่อเราเข้าสู่วัยสูงอายุ ค่ามวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาพบว่าในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปี มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุนบริเวณหลังส่วนล่างและกระดูกสะโพกถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญ น้อยคนนักที่จะทราบว่าตัวเองมีภาวะดังกล่าว กระดูกสะโพกสามารถหักได้หลังจากการล้มก้นกระแทกพื้น ในคนที่ความแข็งแรงของกระดูกลดลง เช่น ในคนที่กระดูกพรุน อาการแสดงของภาวะกระดูกสะโพกหักที่สำคัญคือ อาการปวดบริเวณสะโพกหรือขาหนีบ และยืนลงน้ำหนักไม่ได้ ในบางรายที่มีการหักของกระดูกคอสะโพกแบบไม่สมบูรณ์ ผู้ป่วยอาจยังสามารถเดินลงน้ำหนักได้ แต่จะมีอาการปวดเวลาลงน้ำหนัก ถ้ามีอาการดังกล่าวแนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย

               

การวินิจฉัยกระดูกสะโพกหัก

ส่วนใหญ่ใช้เพียงการซักประวัติ ตรวจร่างกายและการถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ สามารถให้การวินิจฉัยได้เกือบทุกราย ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีกระดูกส่วนคอสะโพกหักแบบไม่เคลื่อน จะไม่สามารถเห็นรอยหักจากภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ การตรวจเพิ่มเติมด้วย MRI ในกรณีนี้จะสามารถให้การวินิจฉัยได้

 

กระดูกสะโพกหัก
ภาพถ่ายรังสีแสดงภาวะกระดูกคอสะโพกหัก (femoral neck fracture)

 

กระดูกสะโพกหัก
ภาพถ่ายรังสีแสดงภาวะกระดูกต้นขาส่วนบนหัก (intertrochanteric fracture)

 

 

MRI กระดูกสะโพกหัก
ผู้ป่วยหญิงอายุ 70 ปี หกล้ม ปวดบริเวณสะโพกซ้าย จากภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ไม่พบรอยหักของกระดูกสะโพก แต่จากภาพถ่าย MRI แสดงการบวมของเนื้อเยื่อบริเวณกระดูกคอสะโพก บ่งบอกถึงภาวะกระดูกคอสะโพกหัก (occult femoral neck fracture) ภาพจาก RadioGraphics, Vol. 35, No. 5 Jul 17 2015. https://doi.org/10.1148/rg.2015140301

 

การผ่าตัดรักษากระดูกสะโพกหัก

ในปัจจุบัน การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดนั้นให้ผลการรักษาที่ดีกว่าไม่ผ่าตัด เนื่องจากผู้ป่วยสามารถฟื้นตัว เคลื่อนไหว ลุกนั่งและสามารถฝึกเดินโดยใช้ไม้เท้าช่วยเดินได้หลังผ่าตัด จากการวิจัยพบว่าการผ่าตัดควรทำภายใน 72 ชั่วโมงหลังการบาดเจ็บ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการนอนติดเตียง เช่น แผลกดทับ ปอดติดเชื้อ หรือลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำที่ขา การผ่าตัดกระดูกสะโพกหักนั้นประกอบด้วยการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกและการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก ขึ้นกับตำแหน่งและลักษณะกระดูกหัก ถึงแม้การผ่าตัดในปัจจุบันจะให้ผลดี แต่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เดิมเคยดูแลตัวเองได้ หลังกระดูกสะโพกหักอาจจำเป็นต้องมีคนใกล้ชิดหรือผู้ช่วยเหลือคอยดูแลและอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดินไปตลอด

 

(ซ้าย) ภาพถ่ายรังสีแสดงภาวะกระดูกคอสะโพกหักหลังได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก (ขวา) ภาพถ่ายรังสีแสดงภาวะกระดูกต้นขาส่วนบนหักหลังได้รับการยึดตรึงกระดูก,
(ซ้าย) ภาพถ่ายรังสีแสดงภาวะกระดูกคอสะโพกหักหลังได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก (ขวา) ภาพถ่ายรังสีแสดงภาวะกระดูกต้นขาส่วนบนหักหลังได้รับการยึดตรึงกระดูก,

                

การป้องกันกระดูกสะโพกหัก

กระดูกสะโพกหักสามารถป้องกันได้ โดยการป้องกันภาวะพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ซึ่งทำได้โดยการจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสม เช่นการเพิ่มราวจับในทางเดินบ้านและห้องน้ำ เก็บของในบ้านให้เป็นระเบียบไม่กีดขวางทางเดิน ใส่ยางกันเลื่อนบริเวณที่เสี่ยงต่อการหกล้ม และปรับให้มีแสงสว่างเพียงพอ

การฝึกการทรงตัวเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันการหกล้ม การตรวจและรักษาภาวะสายตาผิดปกติในผู้สูงอายุ เช่น ภาวะต้อกระจก ก็สามารถป้องกันการหกล้มได้เช่นกัน

                  การป้องกันกระดูกสะโพกหักอีกวิธีหนึ่งคือการป้องกันและรักษาภาวะกระดูกพรุน การได้รับสารอาหาร แคลเซียม และวิตามินดี อย่างเพียงพอ ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สามารถชะลอการลดลงของมวลกระดูกได้ นอกจากนี้เรายังสามารถป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกและรักษาโรคกระดูกพรุน ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายที่เหมาะสมในผู้สูงอายุเพื่อรักษามวลกระดูก ควรเป็นลักษณะการออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก เช่น การเดิน หรือวิ่งเหยาะ ๆ การรำมวยจีน หรือ เต้นแอโรบิกแบบแรงกระแทกต่ำ

                  โดยสรุป ภาวะกระดูกสะโพกหักนั้นสามารถป้องกันได้ โดยการป้องกันและรักษาภาวะกระดูกพรุน ร่วมกับการป้องกันการหกล้ม เมื่อเกิดการล้มและสงสัยกระดูกสะโพกหัก การพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม อย่างรวดเร็วสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

 

Reference Pictures