หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา (All about Cervical Disc Herniation)

หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท-8

หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท

 

           โรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท (Cervical radiculopathy) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบันและสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดร้าวลงแขน ชา หรือแขนอ่อนแรง การวินิจฉัยประกอบไปด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกายและการทำ MRI ในส่วนการรักษาสามารถรักษาได้ทั้งวิธีผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่ผู้ป่วยเป็น

 

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

 

โรคหมอนรองกระดูกคอเคลื่อนทับเส้นประสาทคืออะไรและมีสาเหตุเกิดจากอะไร

            หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทเป็นโรคที่เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอมีการเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งปกติและทำให้เกิดการกดเบียดเส้นประสาท (Cervical Disc Herniation)

 

หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท-8
ภาพประกอบหมอนรองกระดูกคอด้านซ้ายเคลื่อนทับเส้นประสาท Cervical disc herniation

 

สาเหตุของโรคหมอนรองกระดูกคอเคลื่อนทับเส้นประสาท อาจแบ่งออกได้เป็นสาเหตุหลักๆดังนี้

  1. หมอนรองกระดูกคอเสื่อม (Cervical Spondylosis Radiculopathy) : เป็นสาเหตุหลักที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในคนสูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สาเหตุเกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูก ทำให้โพรงเส้นประสาทตีบแคบลงและเกิดการกดเบียดเส้นประสาทจากหมอนรองกระดูกคอหรือกระดูกงอก
  2. อุบัติเหตุ : หมอนรองกระดูกคอเคลื่อนอาจเกิดจากอุบัติเหตุหัวกระแทก หรือมีการสะบัดของคออย่างรุนแรงเช่นรถชน หรืออุบัติเหตุอาจไม่รุนแรงแต่เกิดขึ้นซ้ำบ่อยๆ (เช่นนักร้องวงร็อกที่ต้องสะบัดคอบ่อยๆ)
  3. นั่งทำงานหรือก้มหน้าเป็นเวลานาน : ในปัจจุบันมีอีกหนึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยมากขึ้นเป็นอย่างมาก นั่นคือสาเหตุจากการทำงานหรือกิจวัตรประจำวันที่ต้องก้มหน้าเป็นเวลานาน (เช่นการใช้คอมพิวเตอร์ เล่นโทรศัพท์มือถือ หรืออ่านหนังสือ) ซึ่งการก้มศีรษะเป็นท่าทางที่ทำให้เกิดแรงกดลงบนหมอนรองกระดูกคอมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณของน้ำหนักศีรษะปกติ ซึ่งส่งผลให้หมอนรองกระดูกคอต้องรับน้ำหนักมากขึ้นและเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย

 

 

หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท-8
องศาการก้มหน้า ทำให้น้ำหนักของศีรษะที่กดลงบนกระดูกคอเพิ่มขึ้น

 

อาการของโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท

     โดยส่วนใหญ่แล้วหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทจะมีอาการสำคัญดังนี้คือ

  1. ปวดร้าวลงแขน หัวไหล่ สะบัก (อาจมีความรู้สึกปวดจี๊ดเหมือนไฟช็อต หรือร้อนวูบวาบได้)
  2. ชาแขน ชานิ้วมือ
  3. กล้ามเนื้ออ่อนแรง บริเวณหัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ และนิ้วมือ

 

โดยบริเวณที่จะเกิดอาการปวดและชานั้น ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเส้นประสาทที่ถูกกดทับว่าเป็นเส้นใด กระดูกคอจะมีกระดูกทั้งหมด 7 ชิ้น (เรียกว่า C1 ถึง C7) โดยกระดูกแต่ละชิ้นจะมีหมอนรองกระดูกที่ขั้นอยู่และมีชื่อเรียกตามตำแหน่งของกระดูกชิ้นนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่นหมอนรองกระดูกที่อยู่ระหว่างกระดูกคอชิ้น C5 และ C6 เราจะเรียกหมอนรองกระดูกตำแหน่งนั้นว่า “หมอนรองกระดูก C5-6”

ซึ่งโดยส่วนใหญ่การเกิดหมอนรองกระดูกคอเคลื่อนมักจะทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทที่อยู่บริเวณติดกัน ยกตัวอย่างเช่นถ้ามีการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกคอที่ตำแหน่ง C5-6 ก็มักจะทำเกิดการกดทับเส้นประสาท C6 เป็นต้น โดยอาจพิจารณารูปภาพ Dermatome ด้านล่างประกอบไปด้วยจะทำให้เข้าใจมากขึ้นถึงลักษณะอาการที่แตกต่างกันไปตามตำแหน่งของเส้นประสาทที่โดยกดทับ

 

หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท-8
ตำแหน่งของอาการหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเส้นประสาทที่โดนกดทับ

 

การวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท จำเป็นต้องประกอบไปด้วยขั้นตอนดังนี้

  1. การซักประวัติ : ประวัติสำคัญคืออาการปวดคอ ร้าวลงแขน ชา และแขนอ่อนแรง
  2. ตรวจร่างกาย : แพทย์มักตรวจร่างกายโดยให้ผู้ป่วยทำการหันหน้าและเงยหน้าขึ้น (Spurling’s test) เพื่อตรวจดูการกดทับเส้นประสาท โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดร้าวลงแขนหรือชานิ้วมือปรากฏขึ้นในท่าทางนี้ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียดเพื่อตรวจหาอาการชา และอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อตาม Dermatome
  3. X-ray : ใช้เพื่อดูสภาพความเสื่อมของหมอนรองกระดูกคอ ขนาดของโพรงเส้นประสาท (Neural foramen) และการเรียงตัวของแนวกระดูก
  4. MRI : เป็นการตรวจที่มีความแม่นยำและความเฉพาะเจาะจงสูงที่สุดในการตรวจวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท โดยจะช่วยให้แพทย์สามารถระบุตำแหน่งของโรคและระดับความรุนแรงได้แม่นยำมากขึ้น
  5. EMG/NCV : เป็นการตรวจการทำงานของเส้นประสาท โดยการวัดการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่แพทย์จะพิจารณาส่งตรวจในเคสที่มีความซับซ้อนหรือมีความขัดแย้งกันระหว่างอาการของผู้ป่วยและผล MRI
หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท-8
ภาพ MRI หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท

 

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท

            โดยทั่วไปเราอาจแบ่งการรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทได้เป็น 2 แนวทางใหญ่ๆคือการรักษาโดยการไม่ผ่าตัดและการผ่าตัด

  1. การรักษาหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทโดยการไม่ผ่าตัด (การรักษาด้วยวิธีอนุรักษ์นิยม) ประกอบไปด้วยกระบวนการดังต่อไปนี้
    • การทำกายภาพบำบัด : เป็นแนวทางการรักษาหลักที่ให้ผลลัพธ์ที่ดี ประกอบไปด้วยการดึงคอ (Cervical traction) เพื่อขยายโพรงเส้นประสาท, การลดอาการปวดจากกล้ามเนื้อโดยการใช้เครื่อง Ultrasound, Laser, Shockwave และการฝังเข็ม เป็นต้น
    • การทานยา : ยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทประกอบไปด้วยยาในกลุ่ม Gabapentin, Pregabalin, NSAIDS, ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาแก้ปวด ซึ่งยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงที่ต้องระวังในการใช้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
    • การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงเส้นประสาท (Epidural Steroid Injection) : เป็นวิธีการรักษาที่ให้ผลดีโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเป็นอาการหลักและไม่มีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย

 

  1. การรักษาหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทโดยการผ่าตัด มีข้อบ่งชี้ดังนี้
  • มีอาการปวดรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยวิธีปกติ
  • มีอาการชาหรืออ่อนแรงมาก
  • มีอาการของการกดเบียดไขสันหลังมาก

โดยเทคนิคการผ่าตัดที่แพทย์นิยมทำกันเป็นมาตรฐานในปัจจุบันมี 2 ลักษณะ ได้แก่การผ่าตัดเปิดแผลจากทางด้านหน้า และการผ่าตัดโดยเปิดแผลจากทางด้านหลัง ซึ่งจะอธิบายลงรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความถัดๆไปนะครับ

 

Reference pictures

https://images.app.goo.gl/nXBJveL4ofXqLWMp8

https://images.app.goo.gl/BM7hv9a9P8KZdDCv8

https://images.app.goo.gl/CvXLvwXPjrbQJBed9

https://images.app.goo.gl/Bqu8CgGwFvH1fSpy5

https://pin.it/2K0LMkN

https://images.app.goo.gl/L22xMa999WWWiF2HA