หน้าที่ของเส้นประสาทสันหลังแต่ละเส้น
จากบทความหลายตอนที่ผ่านมา เราได้ทำความรู้จักกับ anatomy ของกระดูกสันหลังกันไปเยอะแล้วนะครับ วันนี้มาว่ากันเรื่องหน้าที่การทำงานของมันกันบ้างครับ
เส้นประสาทสันหลัง (Spinal nerve)
มีทั้งหมด 31 คู่ และมีชื่อเรียกตามตำแหน่งที่มันแตกแขนงออกมาจากกระดูกสันหลังนะครับ โดยผมจะขอสรุปสั้นๆอีกครั้งคือ
– เส้นประสาทส่วนคอ Cervical nerve มี 8 เส้น คือ C1-8
– เส้นประสาทส่วนอก Thoracic nerve มี 12 เส้น คือ T1-12
– เส้นประสาทส่วนเอว Lumbar nerve มี 5 เส้น L1-5
– เส้นประสาทส่วนกระเบนเหน็บ Sacral nerve มี 5 เส้น S1-5
– เส้นประสาทส่วนก้นกบ Coccygeal nerve มี 1 เส้น
หน้าที่หลักๆของเส้นประสาทสันหลัง มี 2 อย่าง คือ 1.สั่งงานกล้ามเนื้อ,อวัยวะต่างๆ และ 2.รับความรู้สึก โดยที่เส้นประสาทสันหลังแต่ละตำแหน่งก็จะมีหน้าที่แตกต่างกัน
เส้นประสาทที่ทำหน้าที่ในการสั่งงานกล้ามเนื้อ (Motor Function)
เราจะมาพูดถึงหน้าที่ของเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ในการสั่งงานกล้ามเนื้อกันก่อนนะครับ โดยจะกล่าวถึงเฉพาะเส้นประสาทเส้นที่ควบคุมกล้ามเนื้อที่สำคัญ และมีนัยยะในการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ครับ
– C5 : ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกางแขน
– C6 : ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อ ที่ใช้ในการงอข้อศอก และกระดกข้อมือ
– C7 : ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเหยียดข้อศอก และงอข้อมือ
– C8 : ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการงอนิ้วมือ
– T1 : ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกางนิ้วมือ
– L1,L2 : ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการงอข้อสะโพก
– L3 : ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเหยียดหัวเข่า
– L4 : ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อเท้า
– L5 : ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกนิ้วโป้งเท้าขึ้น
– S1 : ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อเท้า และนิ้วเท้าลง
– S2,S3 : ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลั้นปัสสาวะ อุจจาระ
นอกเหนือจากเส้นประสาทข้างบนนี้ ไม่ใช้ว่าเส้นประสาทเส้นอื่นจะไม่มีหน้าที่ในการสั่งงานกล้ามเนื้อนะครับ เพียงแต่ว่าอาจจะมีหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อในส่วนที่มีความสำคัญทางการแพทย์น้อย หรือยากแก่การตรวจร่างกายจากภายนอกครับ
เส้นประสาทรับความรู้สึก (Sensory Function)
ในส่วนของการทำงานด้านการรับความรู้สึก (Sensory Function) เส้นประสาทไขสันหลังมีหน้าที่รับความรู้สึกทั้งจากอวัยวะภายใน และผิวหนังภายนอก โดยในทางการแพทย์เราจะให้ความสำคัญกับการตรวจความรู้สึกที่เราตรวจพบได้จากบริเวณผิวหนังเท่านั้น
โดยแผนผังอาณาเขตการรับรู้ความรู้สึกของเส้นประสาทไขสันหลังแต่ละเส้น สามารถดูได้จากภาพประกอบเลยครับ
ในตอนถัดไปเราจะมาเจาะลึกลงไป ถึงวิธีการตรวจร่างกายทางการแพทย์ เพื่อตรวจสอบการทำงานของเส้นประสาทกันครับ