เส้นประสาทไขสันหลัง ชื่อนั้นสำคัญไฉน
ความเดิมจากตอนที่แล้ว เราได้พูดถึงเรื่องกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก และระบบประสาทไขสันหลังกันไปแล้ว ถ้าจะให้ครบถ้วนถึงเรื่องโครงสร้างของกระดูกสันหลัง ก็คงต้องมาต่อกันที่เส้นประสาทนะครับ
หน้าที่ของเส้นประสาทไขสันหลังก็คือทำหน้าที่ “ส่ง” คำสั่งควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและอวัยวะส่วนต่างๆ และ “รับ” ความรู้สึกจากอวัยวะส่วนนั้นๆ กลับไปยังไขสันหลังอีกทีหนึ่ง
ถ้าเราดูจากภาพประกอบจะเห็นว่าเส้นประสาทไขสันหลัง เมื่อแยกออกมาจากไขสันหลังแล้ว ก็จะแตกออกเป็น 2 แขนง นั่นคือแขนงการ “ส่ง” สัญญาณคำสั่งเพื่อไปกระตุ้นกล้ามเนื้อและอวัยวะภายในให้เกิดการขยับตัว และแขนงการ “รับ” สัญญาณความรู้สึกจากอวัยวะนั้นๆกลับมา
การเรียกชื่อเส้นประสาทไขสันหลังแต่ละเส้นนั้น จะเรียกชื่อตามตำแหน่งกระดูกสันหลังที่เส้นประสาทเส้นนั้นๆแตกแขงออกมา ซึ่งจะมี Trick ในการเรียกชื่อที่ซับซ้อนเล็กน้อยดังนี้ครับ
– ในกระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervical spine) จะมีความพิเศษในการเรียกชื่อที่ไม่เหมือนตำแหน่งอื่น โดยเราจะเรียก ”เบอร์” เส้นประสาท ตามตำแหน่งที่มันอยู่ “เหนือ” ต่อกระดูกสันหลังชิ้นนั้นๆ เช่นเส้นประสาทที่อยู่ระหว่างกระดูก C3 และ C4 เราจะเรียกเส้นประสาทเส้นนั้นว่า “C4 nerve root” และเรียกเช่นนี้เรียงลำดับไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเส้นประสาทคอเส้นสุดท้าย ที่อยู่ระหว่างกระดูก C7 และ T1 (สามารถกลับไปอ่านบทความเก่ากันได้นะครับ ว่ากระดูกสันหลังแต่ละส่วนมีกี่ชิ้น) เราจะเรียกเส้นประสาทเส้นนี้ว่า “C8” ไม่ใช่ “T1” ครับ
– ในส่วนกระดูกสันหลังส่วนอกและเอว (Thoracic & Lumbar spine) เราจะเรียก ”เบอร์” เส้นประสาท ตามตำแหน่งที่มันอยู่ “ใต้” ต่อกระดูกสันหลังชิ้นนั้นๆ เช่นเส้นประสาทที่อยู่ระหว่างกระดูก T3 และ T4 เราจะเรียกเส้นประสาทเส้นนั้นว่า “T3 nerve root”
– เช่นเดียวกันกับเส้นประสาทที่อยู่ระหว่างกระดูก L3 และ L4 เราจะเรียกเส้นประสาทเส้นนั้นว่า “L3 nerve root” ครับ
– นอกจากเส้นประสาทส่วนคอ อก และเอว ซึ่งหลายๆคนคงพอจะคุ้นชินกันอยู่บ้าง ตามหลักการทางการแพทย์ เราจะนับรวมเส้นประสาทที่ออกมาจากกระดูกกระเบนหน็บ (Sacrum) ซี่งมี 5 เส้น S1 ถึง S5 และกระดูกก้นกบ (Coccyx) เป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทไขสันหลังด้วยครับ
เป็นยังไงบ้างครับ แค่การเรียกชื่อเส้นประสาทก็ชวนให้งงไม่ใช่เล่นแล้วใช่มั้ยครับ แต่หลังจากเราเรียกชื่อมันถูกแล้ว ต่อไปเราก็พร้อมจะมาเรียนรู้หน้าที่การทำงานของมันกันแล้ว ในตอนถัดไปครับ