โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม

โรคกระดูกสันหลังเสื่อม

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม

 

            ในปัจจุบันปัญหาเรื่องโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่มีคนมาขอคำปรึกษากันอย่างมาก โดยหมอพบว่าโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมมีแนวโน้มที่จะพบในผู้ป่วยที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ อาจจะด้วยวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์มากขึ้น รวมถึงมีกิจวัตรประจำวันที่เน้นการอยู่กับที่ ไม่ได้ออกแรงหรือออกกำลังกายมากเหมือนเมื่อก่อน ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังมีแนวโน้มจะเสื่อมสภาพเร็วขึ้น วันนี้เรามาเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมให้มากขึ้นกันดีกว่าครับ

 

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

 

 

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมคืออะไร

            “หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม” ตามชื่อของโรคนี้ก็บอกอยู่แล้วนะครับ ว่าเป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมหรือความชราของร่างกายนั่นเอง โดยปกติในทางการแพทย์ถ้าเราพูดถึงคำว่า “เสื่อม” เราจะหมายถึงสภาวะที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวรและไม่สามารถทำให้กลับคืนเป็นเหมือนเดิมได้ (ลองนึกง่ายๆถึงเวลาที่เรามีผมหงอกนะครับ นั่นเป็นเครื่องหมายของการเสื่อมสภาพของร่างกายและผมหงอกก็จะไม่กลับมาดำเหมือนเดิมได้อีก)

โรคกระดูกสันหลังเสื่อม (ที่เกิดขึ้นตามอายุและการใช้งาน ไม่รวมถึงสาเหตุจากโรคร้ายแรงอื่นๆเช่นการได้รับอุบัติเหตุ เนื้องอก หรือโรคติดเชื้อ) โดยส่วนมากมักจะเริ่มต้นขึ้นบริเวณ “หมอนรองกระดูกสันหลัง” ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งโดยปกติแล้วหมอนรองกระดูกสันหลังจะมีลักษณะเหมือนวุ้นหรือเจลลี่ ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนเป็น “โช๊คอัพรถยนต์” คือทำหน้าที่เป็นตัวรับน้ำหนักและแรงกระแทก (Shock Absorber)  ที่กระทำลงมาที่กระดูกสันหลังและส่งผ่านน้ำหนักของร่างกายลงไปยังกระดูกสันหลังชิ้นถัดๆไป (คลิกเพื่ออ่านบทความเจาะลึกเกี่ยวกับ >> หมอนรองกระดูกสันหลัง)

 

รูปหมอนรองกระดูกสันหลังที่ปกติ
รูปหมอนรองกระดูกสันหลังที่ปกติ

 

 

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร    

            ในภาวะปกติหมอนรองกระดูกสันหลังจะมีความยืดหยุ่นสูงและมีลักษณะนิ่มเหมือนเจลลี่ แต่ในคนไข้โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ตัวหมอนรองกระดูกสันหลังจะมีความแข็งและเหนียวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มันไม่สามารถทำหน้าที่รับแรงกระแทกและส่งผ่านน้ำหนักได้ดีเหมือนเดิม และเมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมไปแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือการส่งผ่านแรงกระแทกและน้ำหนักร่างกายจะถูกผลักภาระหน้าที่ไปที่ข้อต่อกระดูกสันหลัง ซึ่งเราเรียกว่า Facet Joint นั่นเองครับ

 

            ด้วยความที่ข้อต่อกระดูกสันหลัง หรือ Facet Joint นั่นมีขนาดที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับกระดูกสันหลังทั้งชิ้นและในเมื่อมันไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อรับน้ำหนักร่างกายในปริมาณมาก สิ่งที่ตามมาก็คือข้อต่อกระดูกสันหลังจะเกิดการอักเสบและเกิดการเสื่อมสภาพตามมานั่นเองครับ

 

LWW NBCh1 fig 5A 800x586 - โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม

 

            เมื่อหมอนรองกระดูกและข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อมสภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะตามมาด้วยอาการ “คลอน” หรือความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลัง ซึ่งจะส่งผลให้กระดูกสันหลังมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติและมากเกินไป จนเกิดอาการปวดหรือเกิดอาการ “กระดูกสันหลังเคลื่อน” ขึ้นในที่สุด

            แต่ด้วยความที่ร่างกายของมนุษย์ก็มีความฉลาดและปรับตัวเก่งกาจพอสมควร เมื่อกระดูกสันหลังเสื่อมจนเริ่มมีความไม่มั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายของเราก็จะมีการสร้าง “กระดูกงอก” หรือ Osteophyte ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เพื่อเป็นการเสริมความแข็งแรงและทำให้กระดูกสันหลังที่เสื่อมเคลื่อนไหวน้อยลงครับ

 

หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม
รูปหมอนรองกระดูกสันหลังที่เสื่อม (หมอนรองกระดูกแคบลง และมีกระดูกงอก)

 

             แต่อย่าพึ่งดีใจครับ! ทุกอย่างย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย กระดูกงอกหรือ Osteophyte ก็เช่นกันครับ เพราะเมื่อร่างกายมีการสร้างกระดูกงอกขึ้นมาเพื่อช่วยพยุงกระดูกสันหลังที่เสื่อมสภาพนั้น ในคนไข้บางรายที่มีกระดูกสันหลังเสื่อมมากขึ้นก็จะมีกระดูกงอกมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่มักตามมาก็คือกระดูกงอกนั้นจะเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น จนอาจไปกดเบียดเส้นประสาท ซึ่งจะทำให้คนไข้มีอาการของเส้นประสาทกดทับตามมาได้ครับ

           

โดยสรุปกลไลของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม มักจะมีลำดับการดำเนินโรคดังนี้

  1. หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม
  2. ข้อต่อกระดูกสันหลัง (Facet Joint) อักเสบและเสื่อมสภาพ
  3. กระดูกสันหลังเริ่มคลอนหรือมีการเลื่อน
  4. ร่างกายมีการสร้างกระดูกงอก (Osteophyte) ขึ้นมาประคองกระดูกสันหลังบริเวณที่เสื่อม
  5. คนไข้บางส่วนมีอาการดีขึ้นเมื่อเริ่มมีกระดูกงอก แต่บางส่วนมีอาการหนักขึ้น เช่นมีการกดทับเส้นประสาท กระดูกโก่ง กระดูกคด กระดูกสันหลังเคลื่อน เป็นต้น

 

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

 

อาการของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม

  • ไม่มีอาการ : ผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมส่วนนึงจะไม่มีอาการอะไรเลย
  • ปวดหลัง : อาการปวดหลังนั้นอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่นปวดกล้ามเนื้อหลัง ปวดจากหมอนรองกระดูกที่เสื่อม ปวดจากข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบ ปวดจากหลังโก่งหรือหลังคด ซึ่งอาการปวดมักจะเป็นแบบเรื้อรังและอาจจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง โดยส่วนมากอาการปวดมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยต้องอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน เช่นนั่งหรือยืนนาน แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบร่วมด้วย อาจมีอาการปวดหลังเวลามีการขยับตัวและเปลี่ยนท่าทาง เช่นปวดในท่าแอ่นหลังหรือปวดเวลาลุกจากท่านั่งเป็นยืนเป็นต้น
  • อาการของเส้นประสาทโดนกดทับ : ในผู้ป่วยที่หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมมากขึ้นอาจมีการกดทับของเส้นประสาทจากหมอนรองกระดูกที่เสื่อมหรือกระดูกงอก ซึ่งอาจจะทำให้มีอาการดังต่อไปนี้คือ ปวดร้าวลงขาเหมือนโดนไฟช็อต ชาขาหรือชาเท้า อ่อนแรงกล้ามเนื้อขา,ข้อเท้า,นิ้วเท้า และมีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ

 

สาเหตุของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม

  • อายุ : แน่นอนว่าความชราย่อมเป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งในการเกิดหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ซึ่งข่าวร้ายก็คือเราไม่สามารถหยุดยั้งอายุของเราเพื่อหยุดอาการเสื่อมได้
  • น้ำหนักตัว : เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมมากกว่าผู้ที่น้ำหนักตัวปกติ
  • กิจวัตรประจำวันและลักษณะการทำงาน : อย่างที่หมอเกริ่นไว้ในตอนต้นแล้วว่า ในปัจจุบันเราพบการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลงกว่าเมื่อก่อน โดยปัจจัยสำคัญก็มาจากกิจวัตรประจำวัน ที่ในปัจจุบันผู้คนใช้เวลานั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น บางคนมากถึง 8-12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งส่งผลให้หมอนรองกระดูกต้องรับทำงานหนักขึ้น (ท่าเปรียบเทียบกัน หมอนรองกระดูกสันหลังจะรับน้ำหนักมากที่สุดในท่านั่ง รองลงมาคือท่ายืน และน้อยที่สุดในท่านอน) นอกจากนี้ลักษณะงานที่ต้องใช้แรงงานแบกของหนักและมีการก้มๆเงยๆหลังมาก ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้นครับ
  • ปัจจัยอื่นๆ : นอกจากปัจจัยสำคัญ 3 อย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆอีก อาทิเช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การได้รับอุบัติเหตุบริเวณกระดูกสันหลัง การติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง และเนื้องอกที่กระดูกสันหลังเป็นต้นครับ

 

การป้องกันหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม

            การป้องกันหรือการชะลอการเกิดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมนั้น อาจแบ่งได้เป็น 2 แนวทาง ได้แก่

  • การลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม อันได้แก่การควบคุมน้ำหนัก, หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานเป็นเวลานาน, หลีกเลี่ยงการยกของหนัก, หลีกเลี่ยงการก้มเงยหลังบ่อย และงดการดื่มเหล้า สูบบุหรี่
  • สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยชะลอการเกิดหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้เป็นอย่างดี ก็คือการออกกำลังกาย โดยในผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมหมออยากจะแนะนำให้เน้นออกกำลังกายเพื่อเสริมกล้ามเนื้อในแนวแกนกลางลำตัว (Core muscle) ซึ่งหมายถึงการออกกำลังกายที่เน้นกล้ามเนื้อหน้าท้อง และกล้ามเนื้อหลังครับ

 

การวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม

            นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมแล้วนั้น การตรวจวินิจฉัยด้วยการทำ X-ray, CT scan และ MRI ก็เป็นเครื่องมืออีกอย่างที่จะช่วยหมอในการวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้โดยการทำ MRI จะให้ความแม่นยำในการวินิจฉัยมากที่สุด แต่ถ้าสงสัยว่าผู้ป่วยจะมีอาการข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อมร่วมด้วย (Facet Arthrosis) แพทย์อาจต้องพิจารณาทำ CT scan เพิ่มเติมไปด้วยครับ (คลิกเพื่ออ่านบทความเจาะลึกเกี่ยวกับ >> การทำ X-ray CT MRI ในกระดูกสันหลัง)

 

 

mri หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม
A. หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมในภาพ MRI B. หมอนรองกระดูกสันหลังปกติ

 

การรักษาหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ต้องผ่าตัดทุกรายหรือไม่

            โดยทั่วไปถ้าผู้ป่วยมีเฉพาะอาการปวดหลังโดยที่ยังไม่มีอาการกดทับของเส้นประสาท แพทย์จะให้เริ่มต้นรักษาโดยวิธีอนุรักษ์นิยม (Conservative Treatment) ซึ่งได้แก่การให้ยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ และยาคลายกล้ามเนื้อ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือนดูก่อนครับ ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากมักจะดีขึ้นโดยไม่ต้องทำการรักษาใดๆเพิ่มเติม

            แต่ในผู้ป่วยที่มีการเสื่อมของกระดูกสันหลังมากหรือมีการกดทับของเส้นประสาท และไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอนุรักษ์นิยม แพทย์อาจต้องพิจารณาเพิ่มความเข้มข้นในการรักษามากขึ้น เช่นพิจารณาการรักษาโดยวิธี Intervention หรือการผ่าตัด ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนถัดๆไปนะครับ