รักษาหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท กินยาอะไรดี
การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยการใช้ยา ต้องประกอบไปด้วยการใช้ยาหลายชนิดเพื่อเสริมการออกฤทธิ์ระหว่างกัน (Synergistic effect) และลดผลข้างเคียง (Side effect) ของการใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งในปริมาณที่มากเกินไป
โดยยาที่ใช้ในการรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ประกอบไปด้วยยากลุ่มหลักๆดังนี้
1. NSAIDS (Non-Steroidal anti-inflammatory drugs)
เป็นยาในกลุ่มลดอาการปวดและอาการอักเสบซึ่งไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยยากลุ่มนี้มักถูกเลือกเป็นยาหลักกลุ่มแรกๆในการรักษาอาการปวดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ได้แก่ Aspirin, Iburpofen, Diclofenac, Naproxen, Indomethacin, Meloxicam, Celecoxib (Celebrex), Etoricoxib (Arcoxia) ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาในกลุ่มนี้ได้แก่ การกัดกระเพาะอาหารและการขับออกทางไต จึงมีความจำเป็นต้องระวังการใช้ยาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาการ กระเพาะอาหารอักเสบ หรือเป็นโรคไต
โดยยากลุ่ม NSAIDS นี้ยังสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็นอีก 2 กลุ่ม ได้แก่
1.1 NSAIDS กลุ่ม COX-1 Inhibitor ได้แก่ Aspirin, Iburpofen, Diclofenac, Naproxen, Indomethacin ยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงในเรื่องการกัดกระเพาะค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาการ หรือเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบอยู่เดิม อาจจำเป็นต้องได้รับยาลดกรดในกระเพาะควบคู่กันไปด้วย
1.2 NSAIDS กลุ่ม COX-2 Inhibitor ได้แก่ Celecoxib (Celebrex), Etoricoxib (Arcoxia) เป็นยาที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะน้อยกว่ายาในกลุ่ม COX-1 Inhibitor แต่อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องระมัดระวังการใช้ ในผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดีและผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
2. ยาลดอาการปวดจากเส้นประสาท (Neuropathic pain)
ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ยา Gabapentin, Neurontin และ Pregabalin (Lyrica, Brillior) ยาในกลุ่มนี้ช่วยลดอาการปวดจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ค่อนข้างดี เพราะมีฤทธิ์ลดการส่งสัญญาณความปวดจากเส้นประสาทที่โดนกดทับ ส่วนผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่อาการง่วง เวียนหัว อ่อนเพลีย แขนขาบวม นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง จำเป็นต้องมีการปรับลดปริมาณยาที่ใช้ลง ดังนั้นการใช้ยาในกลุ่มนี้จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
3. ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxants)
เป็นยาที่ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณหลัง สะโพก และขา เพื่อช่วยลดอาการปวดที่เกิดจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ Norgesic Mydocalm Myonal เป็นต้น โดยยาในกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อนี้มีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคืออาการง่วง ซึม เวียนหัว มึนงง ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก ปากแห้งและคอแห้ง จึงควรระมัดระวังการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรอันตราย หรือต้องขับรถยนต์
4. ยาแก้ปวดกลุ่ม Opioids
เป็นยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แรงเพราะเป็นสารสกัดอนุพันธ์จากมอร์ฟีน ส่วนใหญ่แพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดในกลุ่มนี้ให้แก่ผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่มีอาการปวดมากและไม่ตอบสนองต่อการให้ยาในกลุ่มอื่น โดยยาในกลุ่มนี้ได้แก่ Tramadol Ultracet Duocetz เป็นต้น ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยได้แก่อาการเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน และท้องผูก นอกจากนี้ข้อควรระวังที่สำคัญที่สุดในการใช้ยากลุ่มนี้คือการเสพย์ติด ถ้ามีการใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้นการใช้ยาในกลุ่มนี้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และจะพบว่ายากลุ่มนี้จะไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ต้องได้รับใบสั่งยาที่ออกจากแพทย์ในโรงพยาบาลเท่านั้น