กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา (All about Spondylolisthesis)

กระดูกสันหลังเคลื่อน-ทับเส้นประสาท

กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท (Spondylolisthesis)

            โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทถือว่าเป็นหนึ่งในโรคที่มีความสำคัญและพบได้บ่อยในปัจจุบัน เพราะผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทมักมีอาการปวดหลังและปวดร้าวลงขา ชาขา หรือขาอ่อนแรง ซึ่งมักกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงกระทบต่อการทำงานของผู้ป่วยในวัยทำงาน บทความนี้จะช่วยไขข้อข้องใจและเพิ่มความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทให้มากขึ้นได้ครับ

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

 

สาเหตุของโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน

โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในวัยรุ่นและวัยผู้สูงอายุ โดยมีสาเหตุและพยาธิสภาพที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ

ในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อยมักมีสาเหตุมาจากการแตกหักของชิ้นส่วนกระดูกสันหลัง (Spondylolysis) ซึ่งอาจเกิดจากการเจริญที่ไม่สมบูรณ์ของชิ้นกระดูกสันหลังตั้งแต่ในวัยเด็ก หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุและการกระแทกในการเล่นกีฬาเช่นยิมนาสติกหรือยกน้ำหนัก

ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนมักเกิดจากความเสื่อมของแนวกระดูกสันหลัง ทั้งในบริเวณหมอนรองกระดูกและข้อต่อกระดูกสันหลัง ซึ่งจะทำให้กระดูกสันหลังเกิดความไม่มั่นคงและส่งผลทำให้มีการเลื่อนของชิ้นกระดูกสันหลังตามมาในที่สุด

กระดูกสันหลังเคลื่อน spondylosis
ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน จากการหักของกระดูก ในผู้ป่วยอายุน้อย

 

อาการของโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน

            คนไข้ที่มีกระดูกสันหลังเคลื่อนส่วนหนึ่งอาจจะไม่มีอาการใดๆ และอาจตรวจพบโดยบังเอิญจากภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยกระดูกสันหลังเคลื่อนเมื่อเป็นมากขึ้นมักทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนล่าง สะโพก และต้นขาด้านหลัง
  • ปวดหลังบริเวณบั้นเอวส่วนล่างเวลาก้มหรือแอ่นหลัง และอาการปวดดีขึ้นเมื่อได้นอนหรือนั่งพัก
  • ถ้าอาการกระดูกสันหลังเคลื่อนเป็นมากขึ้นจนกดทับเส้นประสาท อาจทำให้มีอาการปวดร้าวลงขา ชาขาหรือชาเท้า กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง รวมถึงมีปัญหาในการขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ

 

อาการ กระดูกสันหลังเคลื่อน ทับเส้นประสาท
ผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท อาจมีอาการเด่นคืออาการปวดหลัง หรือปวดร้าวลงขา

 

การวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

            การวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนประกอบด้วยการตรวจร่างกาย การถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ CT scan และการทำ MRI ในกรณีที่สงสัยภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนจนกดทับเส้นประสาท

           

ภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ในผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

  • อาจเห็นรอยหักของกระดูกสันหลังในชิ้นส่วนกระดูกที่เรียกว่า Pars Interarticularis
  • มีการเคลื่อนตัวออกจากกันของแนวกระดูกสันหลัง
  • พบความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลังในภาพถ่ายในท่า ก้มและแอ่นหลัง (Flexion-Extension Lateral view)

 

x-ray เอกซเรย์ หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน
ภาพเอกซเรย์ หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

 

CT scan ในผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

  • สามารถตรวจพบความผิดปกติของชิ้นส่วนกระดูกสันหลังได้ละเอียดกว่าการถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ทั่วไป
  • ช่วยในการวางแผนการผ่าตัดโดยละเอียด

 

CT scan ในผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน
ภาพ CT scan ผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

 

MRI ในผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

  • การถ่ายภาพ MRI จะสามารถมองเห็นส่วนประกอบที่เป็นเนื้อเยื่อบริเวณรอบกระดูกสันหลังได้ เช่นหมอนรองกระดูก เส้นประสาท กล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
  • สามารถมองเห็นหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทได้ เพื่อนำไปช่วยการตัดสินใจวางแผนผ่าตัด

 

MRI ในผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน
MRI ผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน พบการกดทับเส้นประสาท

 

การรักษาโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน

            เป้าหมายของการรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน ได้แก่

  • ลดอาการปวด
  • ซ่อมแซมกระดูกส่วนที่หักบริเวณ Pars Interarticularis (ไม่สามารถทำได้ในทุกเคส)
  • แก้ไขอาการเส้นประสาทไขสันหลังโดนกดทับ
  • จัดเรียงแนวกระดูกที่เคลื่อนให้กลับมาเรียงตัวตามปกติ

 

การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด

การรักษาโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนโดยส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากการรักษาโดยวิธีอนุรักษ์นิยม หรือการรักษาโดยการไม่ผ่าตัดก่อนเสมอ ซึ่งผู้ป่วยโดยส่วนมากมักจะมีอาการดีขึ้นได้โดยวิธีการรักษาดังต่อไปนี้

  • การพักกิจกรรมหรือกีฬาที่จำเป็นต้องใช้หลังอย่างหนักหรือใช้เป็นเวลานาน
  • การใช้ยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs) ได้แก่ยา Paracetamol, Ibuprofen Diclofenac Arcoxia และ Celebrex
  • การทำกายภาพบำบัด เพื่อเน้นการเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง หน้าท้อง สะโพก และต้นขาด้านหลัง
  • การใส่อุปกรณ์พยุงหลัง (Lumbar support) เพื่อลดการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังส่วนเอว

 

 

การรักษาโดยวิธีอินเตอร์เวนชั่น (Spinal intervention pain management)

เนื่องจากอาการปวดในผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท มักมีสาเหตุจากหลายองค์ประกอบดังนี้

  • ปวดจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบ (Muscle Strain & Ligament Sprain)
  • ปวดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม (Degenerative Disc Disease)
  • ปวดจากข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม (Facet Joint Arthrosis)
  • ปวดจากข้อต่ออุ้งเชิงกรานอักเสบ (Sacroiliac Joint Dysfunction)
  • ปวดจากการกดทับเส้นประสาท (Nerve Compression)
  • สาเหตุอื่นๆเช่น การติดเชื้อ เนื้องอก และสาเหตุจากอวัยวะภายใน

 

สาเหตุอาการปวดหลัง กระดูกสันหลังเคลื่อน
อาการปวดหลัง ในผู้ป่วยกระดูกสันหลังเคลื่อน เกิดได้จากหลายสาเหตุ

 

จะเห็นได้ว่าอาการปวดในผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนเกิดได้จากหลายสาเหตุ และส่วนใหญ่มักมีหลายสาเหตุเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบเพราะทำงานหนัก จนทำให้มีหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หลังจากนั้นจึงเริ่มมีอาการปวดจากข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม และสุดท้ายจึงมีอาการกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทตามลำดับเป็นต้น

ด้วยความที่อาการปวดหลังในผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน การวินิจฉัยหาสาเหตุต้นตอของอาการปวด จึงเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพราะการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนอาจนำไปสู่ผลการรักษาที่ไม่ดีเท่าที่ควร

ในปัจจุบันมีเทคนิคการหาต้นตอของอาการปวด (Source of Pain Identification) ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการใช้ “เข็ม” เพื่อฉีดยาชาเข้าไปในบริเวณที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของการปวด หลังจากนั้นจึงดูการตอบสนองต่อยาชา โดยตามหลักการถ้าแพทย์ฉีดยาชาเข้าไปถูกตำแหน่งที่เป็นสาเหตุของอาการปวด ก็ควรจะทำให้อาการปวดนั้นดีขึ้นทันทีอย่างน้อยประมาณ 50% จากความปวดเดิมก่อนฉีดยาชา ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประโยชน์มากเพราะทำให้แพทย์สามารถเจาะจงต้นตอของอาการปวดได้อย่างแม่นยำ และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้วางแผนการรักษาได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งเทคนิคนี้เราเรียกว่าวิธีการแก้ปวดโดยวิธีอินเตอร์เวนชั่น (Spinal Intervention)

 

การแก้ปวดด้วยวิธีอินเตอร์เวนชั่น (Spinal Intervention) เป็นเทคนิคที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป จนได้รับการยอมรับให้เป็นทางเลือกหลักทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเพราะเป็นวิธีการรักษาที่ไม่ใช่การผ่าตัด เป็นเพียงการรักษาโดยการใช้เข็มขนาดเล็กจึงมีความเสี่ยงต่ำ เสียค่าใช้จ่ายน้อย ทำให้ผู้ป่วยใช้ยาแก้ปวดน้อยลง และเป็นการรักษาที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล

 

การใช้จี้ไฟฟ้าเพื่อลดอาการปวดหลัง (Radiofrequency Ablasion)
การใช้จี้ไฟฟ้าเพื่อลดอาการปวดหลัง (Radiofrequency Ablasion)

 

โดยทั่วไปการรักษาโดยวิธีอินเตอร์เวนชั่นมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่

  1. การฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบและระงับปวด (Steroid Injection)

มีทั้งเทคนิคการฉีดยาเข้าโพรงเส้นประสาทเพื่อลดอาการปวดจากเส้นประสาท (Epidural Steroid Injection) และการฉีดยาเข้าข้อต่อกระดูกเพื่อลดการอักเสบ (Intraarticular Steroid Injection) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าควรพิจารณาฉีดยาในจุดใดบ้าง

  1. การจี้เส้นประสาทบริเวณรอบข้อต่อกระดูกด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency Ablation)

เป็นการใช้จี้ไฟฟ้าคลื่นวิทยุความถี่สูงเพื่อทำลายเส้นประสาทรับความรู้สึกปวดที่มาเลี้ยงบริเวณข้อต่อกระดูกสันหลัง เพื่อเป็นการกำจัดความเจ็บปวดที่เกิดจากการอักเสบและความเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลัง ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอหรือปวดหลังเรื้อรัง

จะเห็นได้ว่าการรักษาอาการปวดหลังด้วยวิธีอินเตอร์เวนชั่นนี้เป็นวิธีที่มีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาททั้งที่มีอาการปวดหลังและปวดร้าวลงขา โดยเป็นวิธีการรักษาที่ไม่ใช่การผ่าตัด มีความเสี่ยงต่ำ และไม่ต้องนอนโรงพยาบาล  อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีอินเตอร์เวนชั่นนี้จำเป็นต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะจำเป็นต้องทำในห้องผ่าตัดและต้องอาศัยเครื่องถ่ายภาพเอ็กซเรย์ในการทำหัตถการ

โดยการรักษาด้วยวิธีอินเตอร์เวนชั่นเป็นวิธีรักษาโดยเน้นบรรเทา “อาการปวด” ที่เป็นอาการหลักของโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน โดยเป็นการรักษาที่ใช้ “เข็ม” ในการรักษา ซึ่งการรักษาด้วยวิธีอินเตอร์เวนชั่นนี้เป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ จนกลายมาเป็นหนึ่งในมาตรฐานการรักษาโรคทางกระดูกสันหลังในปัจจุบัน

การรักษาโดยวิธีอินเตอร์เวนชั่น (Spinal intervention pain management)
การฉีดยาเพื่อลดอาการปวดจากกระดูกสันหลัง

 

การรักษาโดยการผ่าตัด

การรักษาโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนโดยการผ่าตัด มีข้อบ่งชี้ดังนี้

  • ผู้ป่วยมีกระดูกสันหลังเคลื่อนมาก หรือมีแนวโน้มจะเคลื่อนมากขึ้นในอนาคต
  • มีอาการปวดหลังมาก โดยไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยวิธีอื่น
  • มีอาการเส้นประสาทโดนกดทับอย่างรุนแรง

โดยทั่วไปอาการของผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนมักประกอบไปด้วย 2 อาการหลักได้แก่อาการปวดหลังและอาการปวดร้าวลงขา ซึ่งทั้งสองอาการไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นด้วยกันก็ได้ แม้โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการทั้งสองอย่างร่วมกัน แต่อาจแตกต่างกันตรงที่บางคนมีอาการหลักเป็นอาการปวดหลัง บางคนอาจมีอาการหลักเป็นการปวดร้าวลงขา                

                  ต้นตอสาเหตุของอาการปวดหลังในผู้ป่วยกระดูกสันหลังเคลื่อนมักเกิดจากความไม่มั่นคง (Instability) ของแนวกระดูกสันหลัง ซึ่งมักเริ่มจากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ตามด้วยข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อมและส่งผลให้กระดูกสันหลังเกิดการ “เลื่อน” ซึ่งเมื่อกระดูกสันหลังเกิดการเลื่อนตัวออกจากกันจะทำให้เกิดการตีบแคบของโพรงเส้นประสาท และเมื่อมีการตีบแคบลงจนกระทั่งเกิดการกดทับเส้นประสาทก็จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงขา ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือมีปัญหาการควบคุมระบบขับถ่ายตามมาในที่สุด

 

เป้าหมายในการผ่าตัดผู้ป่วยกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

  • เพื่อขยายโพรงเส้นประสาทที่ตีบแคบ (Decompression) : เพื่อลดอาการปวดร้าวลงขา ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง และปัญหาการควบคุมระบบขับถ่าย
  • เพื่อแก้ไขภาวะความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลัง (Restabilization) : เพื่อลดอาการปวดหลัง อันเกิดจากการเคลื่อนของแนวกระดูกสันหลัง
  • เพื่อปรับสมดุลของแนวกระดูกสันหลัง (Realignment) : ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการเสียสมดุลของแนวกระดูกสันหลังโดยรวม เช่นมีกระดูกสันหลังคด และ/หรือกระดูกสันหลังโก่ง

 

ทางเลือกในการผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

  • การผ่าตัดเพื่อขยายโพรงเส้นประสาทอย่างเดียว (Decompression alone) เป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขอาการปวดร้าวลงขา ชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยการผ่าตัดส่องกล้องขยายโพรงเส้นประสาท (Microscopic Decompression) ซึ่งถือเป็นการผ่าตัดที่บาดเจ็บน้อย คนไข้ฟื้นตัวเร็ว มีข้อแทรกซ้อนในการผ่าตัดน้อย และการผ่าตัดทำโดยการใช้กล้องจุลทรรศน์​จึงมีแผลผ่าตัดที่เล็ก โดยการผ่าตัดขยายโพรงเส้นประสาทเพียงอย่างเดียวนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทที่มีอาการปวดหลังน้อยและกระดูกสันหลังเคลื่อนไม่มาก เพราะการผ่าตัดชนิดนี้ไม่สามารถแก้ไขความไม่มั่นคงของแนวกระดูกสันหลังได้
  • การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง (Fusion surgery) เป็นการผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังที่เกิดการเลื่อน ให้ยึดติดเป็นชิ้นเดียวกันเพื่อลดอาการปวดหลังที่เกิดจากความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลัง โดยแพทย์จะพิจารณาแนะนำการผ่าตัดเชื่อมข้อในผู้ป่วยกระดูกสันหลังเคลื่อนที่มีอาการปวดหลังมาก

 

เทคนิคการขยายโพรงเส้นประสาท

การผ่าตัดขยายโพรงเส้นประสาทในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี แต่เทคนิคการผ่าตัดที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่นิยมในปัจจุบันได้แก่

  1. การผ่าตัดแบบเปิดกว้าง (Open Laminectomy) เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิมโดยการเปิดแผลผ่าตัดตรงกลางและทำการเลาะกล้ามเนื้อบริเวณรอบกระดูกสันหลัง และเข้าไปตัดกระดูกสันหลังส่วน Lamina เพื่อทำการเปิดโพรงเส้นประสาทให้โล่ง ข้อดีของวิธีนี้คือสามารถขยายโพรงเส้นประสาทได้กว้าง แต่ข้อเสียคือเป็นการผ่าตัดแบบเปิดกว้างทำให้มีการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบ เสียเลือดมาก และมีโอกาสทำให้โครงสร้างกระดูกสันหลังเสียความมั่นคงได้มาก
  2. การผ่าตัดแบบเปิดแผลเล็กโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Decompression) เป็นการผ่าตัดเพื่อขยายโพรงเส้นประสาทที่มีข้อดีคือ บาดแผลเล็ก เสียเลือดน้อย ผู้ป่วยฟื้นตัวไว และสามารถกลับบ้านได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับวิธีการผ่าตัดแบบ Open Laminectomy โดยการผ่าตัดโดยวิธีนี้จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษคือกล้อง Microscope และแพทย์ผู้ผ่าตัดต้องมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
  3. การผ่าตัดแบบเปิดแผลเล็กโดยใช้กล้องเอนโดสโคป (Endoscopic Decompression) ถือเป็นเทคนิคที่ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กและผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วมาก เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องขยายชนิด Endoscope ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อยาวใส่เข้าไปเพื่อใช้ทำการผ่าตัด ถือเป็นการผ่าตัดที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ที่มีความจำเพาะและแพทย์ผู้ผ่าตัดต้องได้รับการฝึกฝนด้านนี้มาอย่างเป็นพิเศษ

 

ผ่าตัด กระดูกสันหลังเครลื่อนทับเส้นประสาท ส่องกล้อง แผลเล็ก microscope
การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยใช้กล้อง Microscope

 

ผ่าตัด กระดูกสันหลังเครลื่อนทับเส้นประสาท ส่องกล้อง แผลเล็ก microscope
การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยใช้กล้อง Endoscope

 

เทคนิคการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง

ในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี โดยจำแนกเป็น 2 วิธีหลักได้แก่

  1. การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังโดยวิธี Posterolateral Fusion : เป็นวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยการเปิดแผลผ่าตัดขนาดใหญ่เพื่อใส่อุปกรณ์ยึดตรึงกระดูกสันหลัง (Pedicle screw) และใส่ชิ้นกระดูกเพื่อกระตุ้นการเชื่อมข้อในบริเวณกระดูกสันหลังด้านข้าง (Transverse Process) การผ่าตัดชนิดนี้มีข้อเสียคือจำเป็นต้องเปิดแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ เสียเลือดมาก การฟื้นตัวหลังผ่าตัดช้า และอัตราความสำเร็จในการเชื่อมข้อกระดูกไม่สูงมากนัก
  2. การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังโดยวิธี Interbody Fusion : เป็นเทคนิคการผ่าตัดรูปแบบใหม่ โดยใช้เทคนิคการนำหมอนรองกระดูกสันหลังเดิมของผู้ป่วยออกเพื่อแทนที่ด้วยหมอนรองกระดูกเทียมและวัสดุกระตุ้นการเชื่อมกระดูก โดยการผ่าตัดวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องเปิดแผลใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียเลือดน้อยกว่า การฟื้นตัวเร็วกว่าและมีอัตราความสำเร็จในการเชื่อมข้อกระดูกสูงกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยเทคนิคการผ่าตัดโดยวิธี Interbody Fusion ถือว่าเป็นการผ่าตัดที่แพร่หลายและได้รับการยอมรับให้เป็นมาตรฐานการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป โดยเทคนิคการผ่าตัด Interbody Fusion ยังแบ่งออกเป็นอีกหลายเทคนิค ตามลักษณะการผ่าตัดได้แก่ PLIF TLIF ALIF DLIF และ OLIF อย่างไรก็ตามการผ่าตัดเทคนิคนี้ในประเทศไทยยังจำกัดอยู่ในบางโรงพยาบาลเท่านั้น เพราะเป็นการผ่าตัดที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและฝึกฝนมาโดยตรง รวมถึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ในการผ่าตัดที่พิเศษกว่าการผ่าตัดแบบปกติ

 

การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง รักษากระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท lumbar interbody fusion
แนวทางการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง ด้วยวิธี Interbody Fusion

 

  • การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังด้วยวิธี PLIF (Posterior Lumbar Interbody Fusion) เป็นการผ่าตัดเพื่อเปิดโพรงเส้นประสาททางด้านหลังและใส่อุปกรณ์กระดูกเทียม (Interbody Cage) เพื่อทดแทนหมอนรองกระดูกเดิม ข้อดีของการผ่าตัดชนิดนี้คือสามารถทำการขยายโพรงเส้นประสาทที่ตีบแคบได้ดี แต่มีข้อควรระวังคือต้องพยายามป้องกันการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทในระหว่างการผ่าตัด
  • การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังด้วยวิธี TLIF (Transforaminal Lumbar Interbody Fusion) เป็นการผ่าตัดเพื่อขยายโพรงเส้นประสาทและใส่อุปกรณ์กระดูกเทียม (Interbody Cage) จากทางด้านหลังโดยการตัดข้อต่อกระดูกสันหลัง (Facet Joint) ข้อดีของการผ่าตัดชนิดนี้คือสามารถทำการขยายโพรงเส้นประสาทที่ตีบแคบได้ดีและไม่จำเป็นต้องมีการดึงรั้งเส้นประสาทระหว่างการผ่าตัดมากเท่าวิธี PLIF ทำให้มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทน้อยกว่า
  • การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังด้วยวิธี ALIF (Anterior Lumbar Interbody Fusion) เป็นการผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์กระดูกเทียม (Interbody Cage) จากทางด้านหน้า มีข้อดีคือสามารถที่จะหยิบเศษหมอนรองกระดูกเดิมที่เสื่อมสภาพออกได้มากที่สุด ทำให้สามารถใส่อุปกรณ์กระดูกเทียมที่มีขนาดใหญ่ได้จึงเป็นวิธีการผ่าตัดที่สามารถแก้ไขภาวะกระดูกสันหลังผิดรูปได้ดี อย่างไรก็ดีวิธีการผ่าตัดชนิดนี้จำเป็นต้องทำด้วยความระมัดระวังเพราะมีความเสี่ยงในการบาดเจ็บต่อเส้นเลือดใหญ่ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงจุดที่ผ่าตัด
  • การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังด้วยวิธี DLIF (Direct Lateral Lumbar Interbody Fusion) เป็นการผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์กระดูกเทียม (Interbody Cage) จากทางด้านข้าง โดยทำการใส่อุปกรณ์ช่วยผ่าตัดผ่านทางกล้ามเนื้อด้านข้าง (Psoas Muscle) เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บต่อเส้นเลือดขนาดใหญ่ในการผ่าตัดด้วยวิธี ALIF

โดยการผ่าตัดโดยวิธี DLIF มีข้อดีคือสามารถหยิบเศษหมอนรองกระดูกเดิมที่เสื่อมสภาพออกได้มากและสามารถใส่อุปกรณ์กระดูกเทียมที่มีขนาดใหญ่ได้ อย่างไรก็ตามการผ่าตัดโดยวิธีนี้อาจเกิดผลกระทบในเรื่องการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทบริเวณกล้ามเนื้อ Psoas Muscle ได้

  • การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังด้วยวิธี OLIF (Oblique Lumbar Interbody Fusion) เป็นการผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์กระดูกเทียม (Interbody Cage) จากทางด้านข้าง โดยทำการใส่อุปกรณ์ช่วยผ่าตัดทางด้านหน้าต่อกล้ามเนื้อ Psoas Muscle เป็นวิธีการผ่าตัดที่สามารถหยิบเศษหมอนรองกระดูกเดิมที่เสื่อมสภาพออกได้มากและสามารถใส่อุปกรณ์กระดูกเทียมที่มีขนาดใหญ่ได้ รวมทั้งยังสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทโดยรอบกล้ามเนื้อ Psoas Muscle และลดความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บต่อเส้นเลือดใหญ่ได้อีกด้วย

Reference Pictures