ปวดกระดูกก้นกบ มีอาการอย่างไรและรักษาอย่างไร
อาการปวดกระดูกก้นกบเป็นปัญหานึงที่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาที่รบกวนชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก วันนี้ easydoc มีรายละเอียดเกี่ยวกับอาการและวิธีการรักษาอาการเจ็บปวดกระดูกก้นกบมาเล่าให้ฟังกันครับ
ยาวไปอยากเลือกอ่าน
กระดูกก้นกบคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร
กระดูกก้นกบมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Coccyx หรือ Tailbone” เป็นชิ้นกระดูกเล็กๆที่อยู่บริเวณส่วนปลายสุดของกระดูกสันหลัง โดยจะเป็นกระดูกส่วนที่เชื่อมติดกับกระดูกกระเบนเหน็บ หรือ “Sacrum”
ความสำคัญของกระดูกก้นกบคือเป็นกระดูกส่วนที่รับน้ำหนักของร่างกายเวลาที่เรานั่งกับพื้นหรือเก้าอี้ ดังนั้นเวลาที่เรามีอาการกระดูกก้นกบอักเสบหรือกระดูกก้นกบแตกหักร้าว เราจึงมักมีอาการเจ็บก้นกบเวลานั่งนั่นเองครับ นอกจากนี้กระดูกก้นกบยังเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณอุ้งเชิงกรานเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเวลาที่เรามีอาการกระดูกก้นกบอักเสบ จึงอาจทำให้เรามีอาการปวดเวลาขับถ่ายอุจจาระได้อีกด้วย
สาเหตุของอาการปวดกระดูกก้นกบ
- อุบัติเหตุหกล้มก้นกระแทกพื้น เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เพราะในคนรูปร่างปกติ (ไม่อ้วนมาก) กระดูกก้นกบจะอยู่ชิดกับผิวหนังบริเวณก้น เวลาที่มีอุบัติเหตุหกล้มก้นกระแทกพื้น กระดูกก้นกบจึงมักจะกระแทกกับพื้นโดยตรง ทำให้เกิดอาการกระดูกก้นกบอักเสบ กระดูกก้นกบร้าว และกระดูกก้นกบหักได้ โดยการวินิจฉัยจำเป็นต้องมีการทำ X-ray เพื่อยืนยันสาเหตุของอาการเจ็บก้นกบ ที่คิดว่ามาจากกระดูกก้นกบแตกหักหรือกระดูกก้นกบร้าวด้วยเสมอ
- การนั่งผิดท่าทางเป็นเวลานาน เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พบได้มากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน เพราะการนั่งทำงานในท่าเอนตัวจะทำให้น้ำหนักร่างกายกดทับลงที่กระดูกก้นกบโดยตรง การนั่งทำงานหรือนั่งขับรถเป็นเวลานานจึงอาจทำให้เกิดอาการเจ็บก้นกบจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณรอบกระดูกก้นกบอักเสบได้
- กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเกร็งตัว (Pelvic Floor muscle Spasm)
- การติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน
- เนื้องอกบริเวณกระดูกก้นกบ
- โรคเกี่ยวกับอวัยวะอื่นที่ไม่ได้เกิดจากกระดูกก้นกบโดยตรงเช่นโรคทางระบบขับถ่าย และโรคทางระบบสืบพันธ์เพศหญิง
อาการกระดูกก้นกบอักเสบหรือแตกหักร้าว
- กดเจ็บบริเวณกระดูกก้นกบ
- เจ็บกระดูกก้นกบเวลานั่งโดยเฉพาะในท่านั่งเอน
- ปวดกระดูกก้นกบเวลาเปลี่ยนท่าทางจากนั่งเป็นลุกยืน
- ปวดกระดูกก้นกบเวลาขับถ่าย
- มีอาการชารอบกระดูกก้นกบหรือทวารหนัก (เนื่องจากบริเวณรอบกระดูกก้นกบมีปลายเส้นประสาทอยู่ด้วย)
วิธีการรักษาอาการเจ็บปวดกระดูกก้นกบ จากสาเหตุกระดูกก้นกบอักเสบหรือกระดูกก้นกบแตกหักร้าว
- ปรับท่าทางการนั่ง สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาอาการปวดกระดูกก้นกบคือการปรับท่าทางการนั่ง โดยแนะนำให้ปรับท่านั่งโดยการโน้มตัวไปข้างหน้าแทนที่จะนั่งแบบเอนหลัง เหตุผลเพื่อป้องกันการกดทับของน้ำหนักตัวลงบนกระดูกก้นกบ
- การใช้หมอนหลุมหรือหมอนรูปโดนัท (Donut Pillow) เป็นวิธีการรักษาที่ง่ายและได้ผลดี โดยการใช้หมอนที่มีรูตรงกลางเพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดทับต่อกระดูกก้นกบ
- การประคบเย็น ภายหลังเกิดอุบัติเหตุใน 48 ชั่วโมงแรก การประคบเย็นด้วย Cold-Hot Pack หรือผ้าห่อน้ำแข็งจะช่วยลดการอักเสบของกระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นบริเวณรอบกระดูกก้นกบได้ดี
- การประคบร้อนและแช่น้ำอุ่น ควรทำหลังจากเกิดอุบัติเหตุไปแล้ว 48 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้ระบบไหลเวียนเลือดบริเวณกระดูกก้นกบดีขึ้น ช่วยให้อาการบาดเจ็บหายเร็วขึ้น
- การทานยาลดอาการปวดและลดอักเสบ ถ้ามีอาการปวดมากแนะนำให้ปรึกษาแพทย์และพิจารณาใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น Ibuprofen Diclofenac Celebrex และ Arcoxia
- เพิ่มการรับประทานอาการประเภทผักที่มีไฟเบอร์สูงหรือใช้ยาถ่ายประเภทที่ทำให้อุจจาระอ่อนตัว เพื่อลดความเจ็บปวดขณะขับถ่าย
- ทำกายภาพบำบัด โดยการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อพิจารณาการใช้อุปกรณ์ทางกายภาพเพื่อลดอาการปวดและอาการอักเสบของกระดูกก้นกบ
- โดยทั่วไปคนไข้ส่วนมากจะมีอาการดีขึ้นตามลำดับและสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ภายในเวลา 1-3 เดือน แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายหลังการรักษาโดยวิธีข้างต้นแล้วนานกว่า 3 เดือน อาจปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการฉีดยาชาและ/หรือยาสเตียรอยด์เข้าไปบริเวณกระดูกก้นกบที่ปวด เพื่อลดอาการปวดโดยตรง
- ในกรณีที่กระดูกก้นกบหักผิดรูป จนทำให้มีอาการปวดมาก ปวดเรื้อรัง มีปัญหาด้านการขับถ่ายมาก แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าว
โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายได้โดยการรักษาด้วยวิธีการปกติ มีเพียงผู้ป่วยจำนวนน้อยมากที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลใจมากเกินไปนะครับ
Reference Pictures
- https://images.app.goo.gl/AerPyBfCdpqKurQV6
- https://images.app.goo.gl/Ex1PDaxQbcgYptMq8
- https://images.app.goo.gl/z6Vrc6X58JShM22X6
- https://images.app.goo.gl/y17hpmh385GHrZR17
- https://images.app.goo.gl/XtfuJMiYhqiUqAiW9
- https://images.app.goo.gl/wuvyNwGEzfwm9srq7