กระดูกสันหลังยุบ จากโรคกระดูกพรุน (Osteoporotic Vertebral Fracture)

คนแก่ สูง อายุ กระดูกพรุน หกล้ม กระดูกสันหลังยุบ

กระดูกสันหลังยุบ ในคนแก่สูงอายุ

           โรคกระดูกสันหลังยุบในคนแก่เป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งมักมีความสัมพันธ์กับภาวะกระดูกพรุน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังมากและใช้ชีวิตได้ลำบาก ส่วนมากมักมีประวัติหกล้มก้นกระแทกพื้น ในบางครั้งจะสามารถวินิจฉัยได้ยาก และอาจส่งผลเสียร้ายแรงได้ ถ้าปล่อยไว้นานและไม่ได้รักษาให้ถูกต้อง

 

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

 

 

 

สาเหตุของการเกิดกระดูกสันหลังยุบ

          กระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศหญิง สาเหตุสำคัญเกิดจากความเปราะบางของเนื้อกระดูกสันหลังที่เกิดจากโรคกระดูกพรุน ที่ทำให้เนื้อกระดูกเกิดการแตกหักได้ง่าย สาเหตุของโรคกระดูกพรุนเกิดจากหลายปัจจัยอาทิเช่น อายุ เพศ อาหาร กิจวัตรประจำวัน โรคประจำตัว ภาวะขาดแคลเซียมและวิตามินดี เป็นต้น

          ภาวะกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่มักเกิดในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยมากมักมีประวัติอุบัติเหตุหกล้มหลัง-ก้นกระแทก หรือในบางรายอาจไม่มีประวัติอุบัติเหตุเลยก็ได้

 

คนแก่ ชรา สูงอายุ หกล้ม กระดูกหลังยุบ หัก

 

อาการที่พบบ่อย

          โดยส่วนมากกระดูกสันหลังที่ยุบมักเกิดขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่างกระดูกสันหลังช่วงอกส่วนล่างและกระดูกสันหลังเอวส่วนบน (Thoracolumbar Junction) ทำให้ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหลังบริเวณบั้นเอวส่วนบน โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุนมักไม่เกิดการกดทับเส้นประสาท ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการกดทับเส้นประสาทร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงขา ชาขา ขาอ่อนแรง และปัสสาวะ-อุจจาระลำบาก ร่วมด้วยได้

          อาการปวดหลังจากกระดูกสันหลังยุบมักจะมีระดับความปวดค่อนข้างมาก อาการปวดมักไม่ทุเลาแม้ใช้ยาแก้ปวดประเภท Paracetamol และอาการปวดมักเป็นมากขึ้นเวลามีการขยับร่างกาย เช่นเวลาพลิกตัวบนเตียงในท่านอน หรือเวลาเปลี่ยนท่าทางจากนอนเป็นนั่งและจากท่านั่งเป็นยืน

 

คนแก่ สูงอายุ ปวดหลัง กระดูกหลังยุบ หกล้ม

 

การวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังยุบ

            โดยทั่วไปโรคกระดูกสันหลังยุบมักวินิจฉัยได้จากภาพ X-ray อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายที่ภาพ X-ray ไม่สามารถแสดงลักษณะกระดูกสันหลังยุบได้ชัดเจน อาจมีความจำเป็นต้องทำ MRI Scan เพื่อช่วยในการวินิจฉัยเพิ่มเติม

            อีกเรื่องหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยควบคู่กันไปคือโรค “กระดูกพรุน” ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยความแข็งแรงของมวลกระดูก (Bone Mineral Density หรือการตรวจ BMD) ร่วมด้วยเสมอ

 

X-ray MRI กระดูกสันหลังยุบ

 

แนวทางการรักษา

            ในผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังยุบไม่มากและไม่มีอาการทางเส้นประสาท แพทย์มักจะเริ่มต้นการรักษาโดยการให้ยาระงับปวด ทำกายภาพ และใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงหลัง โดยส่วนใหญ่คนไข้มักจะมีอาการปวดที่ดีขึ้นและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน

            ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดมาก มีอาการกดทับเส้นประสาท หรือมีการยุบตัวของกระดูกรุนแรง แพทย์อาจจำเป็นต้องพิจารณาการรักษาโดยวิธีผ่าตัด โดยมีตั้งแต่การรักษาโดยการฉีดซีเมนต์บริเวณที่กระดูกยุบ การผ่าตัดใส่สกรูเพื่อยึดดามกระดูก​ หรืออาจจำเป็นต้องทำทั้งสองอย่างร่วมกัน

            นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่ผลตรวจ BMD พบภาวะกระดูกพรุน จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการให้ยารักษาโรคกระดูกพรุนร่วมด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งในรูปแบบยาฉีดและยากิน