ความเร่งด่วนในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง
ระดับขั้นของการรักษาโรคทางกระดูกสันหลังหรือที่เราเรียกว่า Step Ladder Treatment ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนหลักดังนี้
1. การรักษาโดยการใช้ยาชนิดรับประทาน ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด
2. การรักษาโดยวิธี Intervention หรือการรักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัด (เช่นการใช้เข็มฉีดยาลดอาการปวดฉีดเข้าโพรงเส้นประสาท หรือการใช้จี้ไฟฟ้าระงับเส้นประสาทรับความเจ็บปวด)
3. การรักษาโดยการผ่าตัด
โดยส่วนของการรักษาโดยการผ่าตัด ในทางการแพทย์อาจแบ่งออกได้เป็น 3 หมวดหมู่ ตามความเร่งด่วนในการรักษาได้แก่
- – Elective Surgery หรือการผ่าตัดกระดูกสันหลังชนิดไม่เร่งด่วน ใช้ในการรักษาโรคที่ไม่มีอันตรายต่อชีวิตและไม่ก่อให้เกิดความพิการถาวร โดยส่วนมากการผ่าตัดลักษณะนี้จะเน้นไปที่การลดอาการปวดที่เกิดจากการเสื่อมของกระดูกสันหลัง หรือการกดทับเส้นประสาทจากหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีอาการไม่มาก
- – Urgency Surgery หมายถึงการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยส่วนมากเป็นการแก้ไขปัญหาไขสันหลังหรือเส้นประสาทไขสันหลังโดนกดทับที่มีอาการมาก เช่นมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้ออย่างมาก หรือมีการควบคุมระบบขับถ่ายผิดปกติ ซึ่งควรทำการผ่าตัดโดยเร่งด่วนภายในเวลาไม่เกิน 1-2 วันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความพิการอย่างถาวรต่อเส้นประสาทไขสันหลัง
- – Emergency Surgery หมายถึงการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่ควรทำทันที เพื่อช่วยชีวิตหรือเพื่อรักษาอวัยวะสำคัญของร่างกาย ซึ่งในด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนใหญ่จะหมายความถึงการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการอัมพฤกษ์อัมพาตที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือการติดเชื้อในกระดูกสันหลังอย่างรุนแรง
จะเห็นได้ว่าคนไข้ที่ถูกวินิจฉัยและจัดให้อยู่ในกลุ่ม Urgency และ Emergency เป็นกลุ่มคนไข้ที่มีความเร่งด่วนในการผ่าตัด เพราะการตัดสินใจผ่าตัดล่าช้ามักจะทำให้เกิดผลเสียต่อระบบประสาทในระยะยาวและยากต่อการพื้นฟูกลับมาในอนาคต โดยในทางการแพทย์จะมีคำว่า “Golden Period” ซึ่งหมายถึงช่วงระยะเวลาสำคัญที่จะทำให้การผ่าตัดได้ผลดี ยกตัวอย่างเช่นคนไข้ที่มีการกดทับของเส้นประสาทไขสันหลังจนกระทั่งมีอาการผิดปกติของการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ จะมี Golden Period ซึ่งควรรีบทำการผ่าตัดภายใน 24 ชั่วโมง เพราะถ้าล่าช้ากว่านี้อาจส่งผลให้เกิดความบกพร่องในเรื่องการขับถ่ายได้ในระยะยาวได้เป็นต้น
โดยสรุปผู้ป่วยที่ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคทางกระดูกสันหลังและพิจารณาทำการผ่าตัดรักษาโดยเร่งด่วนได้แก่
– ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เช่นมีอาการปวดมากและมีลักษณะอาการปวดร้าวไปตามแขนขา, มีอาการชาหรือรับรู้ความรู้สึกได้น้อยลงบริเวณแขนขาและลำตัว, มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขาอย่างชัดเจน และอาการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระผิดปกติ
– มีประวัติได้รับอุบัติเหตุบริเวณแนวกระดูกสันหลัง
– มีไข้ หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อในบริเวณอื่นๆของร่างกายนำมาก่อนเกิดอาการปวดหลังหรืออาการทางระบบประสาท
– มีประวัติเป็นโรคมะเร็ง หรือเนื้องอกในบริเวณอื่นๆของร่างกาย
– เคยมีประวัติกระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทอยู่แล้วและมีอาการเป็นมากขึ้นอย่างเฉียบพลัน
Reference Pictures
– https://images.app.goo.gl/LN9jwB9ch4ewxgyE7
– https://images.app.goo.gl/u1hda9uhoAnyKjZ76