คุณหมอดูอะไรบ้างในภาพ X-ray กระดูกสันหลัง

หมอกระดูกสันหลังเก่ง

คุณหมอดูอะไรบ้างในภาพ X-ray กระดูกสันหลัง

 

            หลายครั้งเวลาไปหาหมอด้วยอาการปวดหลังหรือปวดคอแล้วหมอทำการส่งตรวจเอกซเรย์ เคยสงสัยกันบ้างมั้ยครับว่าหลังจากเราเอกซเรย์เสร็จแล้ว หมอเค้าดูอะไรบ้างในภาพเอกซเรย์วันนี้มีคำตอบมาเล่าให้ฟังครับ

            อย่างที่ผมได้เคยเล่าให้ฟังในบทความก่อนหน้านี้ไปแล้วว่าการทำ X-ray กระดูกสันหลังนั้น สิ่งที่หมอเน้นและต้องการดูเป็นพิเศษก็คือ “กระดูก” นั่นเองครับ เพราะการถ่ายภาพเอกซเรย์โดยหลักการแล้วเราจะใช้เน้นดูอวัยวะหรือวัตถุที่มีความทึบแสง ซึ่งจะปรากฏเป็นภาพ “สีขาว” ในภาพถ่ายเอกซเรย์นั่นเอง

            ในการถ่ายภาพ X-ray โดยทั่วๆไป แพทย์จะทำการถ่ายเอกซเรย์ 2 ท่า ได้แก่ท่า AP (Anteroposterior) ซึ่งจะทำการยิงลำแสงเอกซเรย์ในแนวหน้า-หลัง และท่า Lateral ซึ่งจะทำการถ่ายภาพโดยการยิงลำแสงจากด้านข้างลำตัวในแนวซ้าย-ขวา โดยการแปลผลภาพ X-ray จำเป็นต้องใช้ทั้งสองภาพนี้ประกอบกัน เพื่อให้แพทย์เห็นภาพกระดูกสันหลังทั้ง 2 มิติครับ

 

x-ray กระดูกสันหลังเสื่อม
ภาพ X-ray AP

 

x-ray กระดูกสันหลังเสื่อม
ภาพ X-ray Lateral

 

            โดยหลักการอ่านภาพเอกซเรย์โดยทั่วไป เรียกว่าการอ่านตามหลัก ABCD ซึ่งสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆดังนี้ครับ

A = Alignment

            หมายถึงการดูแนวการเรียงตัวของกระดูกสันหลัง โดยจะเป็นการประเมินแนวกระดูกสันหลังว่ามีการคด โก่ง และแอ่นมากผิดปกติหรือไม่

 

x-ray กระดูกสันหลังคด
x-ray กระดูกสันหลังคด

 

            B = Bone

            หมายถึงการประเมิน “กระดูกสันหลัง” ว่ามีการแตกหักเสียหาย หรือมีลักษณะการโดนทำลายโดยโรคร้ายแรงเช่นโรคมะเร็งหรือโรคติดเชื้อหรือไม่

 

กระดูกสันหลังหัก
กระดูกสันหลังหัก

 

            C = Cartilage

            หมายถึงการประเมินในส่วนของกระดูกอ่อน (End Plate) ตรงบริเวณขอบกระดูกสันหลัง รวมถึงเราสามารถประเมินความกว้างของหมอนรองกระดูกสันหลัง (Intervertebral Disc) ที่จะเห็นเป็นช่องว่างในภาพเอกซเรย์โดยคร่าวๆได้อีกด้วย

            D = Degeneration

            หมายถึงการประเมินความเสื่อมของกระดูกสันหลังที่เห็นได้จากภาพเอกซเรย์ ซึ่งความเสื่อมของกระดูกสันหลังอันเกิดจากการใช้งานหนักและตามอายุที่มากขึ้น จะแสดงออกให้เห็นในภาพเอกซเรย์ในรูปของหมอนรองกระดูกที่แคบลง กระดูกงอก และการมีแคลเซี่ยมมาเกาะบริเวณข้อต่อกระดูกสันหลัง (Facet arthrosis) เป็นต้นครับ

 

กระดูกสันหลังเสื่อม
X-ray ผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อม

 

            ท่านผู้อ่านคงจะพอได้ไอเดียในการแปลผลภาพถ่ายเอกซเรย์กันไปบ้างแล้วนะครับ ในตอนถัดไปเรามาดูกันครับว่าภาพถ่ายเอกซเรย์ในผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเสื่อมจะเป็นอย่างไร รอติดตามชมกันต่อไปได้นะครับ 

 

Reference pictures