การตรวจร่างกายหัวเข่า เส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด

ตรวจร่างกาย หัวเข่า เอ็นไขว้หน้าขาด

การตรวจร่างกายหัวเข่า เส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด

 

ในตอนที่แล้ว ก็ได้พูดถึงประสบการณ์เส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดกันไปแล้ว เราก็ได้เห็นว่า อาการแสดงของเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดนั้นเป็นอย่างไร ในตอนนี้เราจะมาพูดกันต่อในเรื่องการตรวจร่างกายของแพทย์นะครับ โดยการตรวจร่างกายเพื่อประเมินเส้นเอ็นไขว้หน้านั้น สถานการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจก็คือตรวจทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะแพทย์ประจำสนามที่จะเห็นลักษณะการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น และทำการตรวจได้ทันทีก่อนที่จะเกิดการบวมของข้อเข่า และการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเข่า 

 

โดยทั่วไปแล้ว การทดสอบที่ทำบ่อยและง่ายในสนาม คือ Lachman test ซึ่งจะเป็นการทดสอบความมั่นคงทางด้านหน้า โดยในลักษณะท่าเข่าเหยียดประมาณ 10-30 องศา โดยในองศานี้ เส้นเอ็นไขว้หน้า จะเป็นเส้นเอ็นหลักเพียงอย่างเดียวที่ให้ความต้านทานการเคลื่อนไหวทางด้านหน้าของกระดูก Tibia การทดสอบนี้มีความไวและความจำเพราะสูงถึงร้อยละ 95 จึงเป็นการตรวจร่างกายที่ดีสำหรับเส้นเอ็นไขว้หน้า 

 

 

 

อาการของผู้ป่วยเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดระยะเฉียบพลัน

ในเวลาต่อมา ผู้ป่วยที่มีเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด จะมีการบวมน้ำ อาการบวมจะเกิดขึ้นรวดเร็วภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ โดยสารน้ำดังกล่าวมักจะเป็นเลือด (Hemarthrosis) ซึ่งลักษณะอาการบวมนี้ อาจจะมีการบาดเจ็บร่วมอื่นๆ เช่น กระดูกอ่อนแตก หมอนรองกระดูกฉีกขาด ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ การตรวจร่างกายในผู้ป่วยที่มีอาการบวมข้อเข่านั้น จะทำได้ยากลำบากเนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการปวดและมีการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ทำให้การแปลผลการตรวจโดยเฉพาะการตรวจความมั่นคงของข้อเข่า ทำได้ยาก ดังที่บอกในตอนต้นว่าถ้าสามารถตรวจ ณ จุดเกิดเหตุ ก่อนที่เข่าจะบวม หรือเกร็งจะทำให้ประเมินการบาดเจ็บของเส้นเอ็นไขว้หน้าได้ดีที่สุด 

 

หากผู้ป่วยมีอาการปวดบวมมาก การเจาะดูดเอาสารน้ำในข้อออก ร่วมกับการฉีดยาชาเข้าไปในข้อเข่า สามารถช่วยลดความเจ็บปวดลงได้ แต่อาจจะไม่ช่วยลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อได้ ดังนั้น อาจจะจำเป็นต้องให้การรักษาตามอาการสักระยะเวลาหนึ่ง เมื่อการอักเสบลดลง การงอเหยียดเข่าทำได้ดีขึ้น การตรวจร่างกายมีความแม่นยำในการวินิจฉัยมากขึ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว อาการปวดบวมจะลดลงในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ 

หลังอาการปวดบวมลดลงผู้ป่วยจะสามารถงอเหยียดเข่าได้ดีขึ้น อาการเกร็งกล้ามเนื้อรอบๆเข่าลดลงทำให้เราสามารถตรวจร่างกายอื่นๆ ต่อไปได้ สิ่งที่เราจะเห็นได้หลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ คือ กล้ามเนื้อต้นขา ที่จะลีบลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็เนื่องมาจากอาการบวมน้ำและอาการปวด ที่จะส่งให้ร่างกายลดการกระตุ้นกล้ามเนื้อต้นขาโดยอัติโนมัติ ทำให้กล้ามเนื้อต้นขาลีบลงเมื่อเปรียบเทียบกับข้างปกติ 

 

 

การตรวจหัวเข่าผู้ป่วยเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด 

จุดกดเจ็บต่างๆ รอบๆ เข่า จะช่วยบ่งบอกตำแหน่งการบาดเจ็บร่วมอื่นๆ 

ตำแหน่งกดเจ็บบริเวณแนวข้อต่อ (Joint line) บ่งบอกว่า อาจจะมีการบาดเจ็บร่วมของหมอนรองกระดูก หรือ กระดูกอ่อน ตำแหน่งกดเจ็บบริเวณด้านข้าง บ่งบอกถึงการบาดเจ็บของเส้นเอ็นประกบด้านข้าง (Collateral ligament) การทดสอบการเคลื่อนไหว หากผู้ป่วยยังไม่สามารถงอเหยียดเข่าได้เต็มที่ อาจจะมีสาเหตุมาจาก มีการบาดเจ็บร่วมของหมอนรองกระดูก หรือมีการบาดเจ็บกระดูกอ่อน ที่กลายเป็นตัวขัดขวางในข้อเข่า ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ การทดสอบความมั่นคงของข้อเข่า โดยจะทำการทดสอบความมั่นคงทั้งในด้านหน้า และการบิดหมุน ได้แก่ 

 

ตรวจร่างกาย หัวเข่า เอ็นไขว้หน้าขาด

 

การตรวจร่างกายเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดด้วยวิธี Anterior drawer test 

Youtube

 

 

สิ่งที่สำคัญ ก่อนทำการตรวจ คือ ต้องตรวจสอบ Tibial step off (ส่วนนูนของกระดูก Tibia ด้านบนที่จะอยู่ระดับเดียวกับ กระดูก Femur) เพราะหากผู้ป่วยมีการบาดเจ็บของเส้นเอ็นไขว้หลัง จะทำให้กระดูก Tibia ตกลงไปด้านหลัง การแปลผลจากการตรวจร่างกายจะผิดไปได้ ผู้ป่วยนอนหงาย งอเข่า 90 องศา โดยแพทย์จะออกแรงดึงกระดูก Tibia มาทางด้านหน้า เปรียบเทียบกับกระดูก Femur ว่ามีการเคลื่อนที่มาทางด้านหน้าหรือไม่ จะเห็นว่าการตรวจนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องงอเข่าให้ได้ถึง 90 องศา ดังน้ัน ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดบวมเข่า โดยเฉพาะหลังการบาดเจ็บก็จะไม่สามารถทำการตรวจได้ ท่านี้ผู้ป่วยจะงอเข่า 10-30 องศา แล้วทำการออกแรงดึงกระดูก Tibia มาทางด้านหน้า ต้องจัดให้ขาอยู่ในท่าปกติ ไม่มีการบิดหมุนของ Tibia เพราะอาจจะทำให้แปลผลผิดได้ 

 

 

การตรวจร่างกายเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดด้วยวิธี  Pivot shift test 

 

 

ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงายเข่าเหยียด แพทย์จะจับที่ฝ่าเท้าแล้วบิดหมุนเท้าเข้าทางด้านใน (Internal rotation) พร้อมกับออกแรงดันเข่าจากทางด้านข้างนอก (Valgus force) แล้วค่อยๆ งอเข่า การทดสอบนี้เป็นการจำลองอาการเข่าทรุดในผู้ป่วยเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด นอกจากนี้ยังมีการทดสอบอื่นๆ เพื่อตรวจสอบการบาดเจ็บร่วมของโครงสร้างเข่าต่างๆ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการตรวจตามความเหมาะสมต่อไป ครับ 

 

พื้นฐานการตรวจร่างกายทางกระดูกและข้อเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยที่ถูกต้อง นำไปสู่การส่งตรวจเพิ่มเติมที่จำเพาะเจาะจง ซึ่งจะให้เรามองเห็นภาพรวมของการบาดเจ็บได้ชัดเจน การวางแผนการรักษาก็จะขึ้นอยู่กับขั้นตอนสำคัญนี้แหละครับ ในตอนหน้า เราจะมาพูดกันเรื่องของการตรวจ X-ray และ MRI ในการบาดเจ็บเส้นเอ็นไขว้หน้ากันต่อนะครับ 

 

Reference Pictures