การดูแลฟื้นฟูตัวเอง หลังผ่าตัดดามกระดูกหัก

ดูแล ฟื้นฟู หลังผ่าตัดกระดูกหัก-1

หลังผ่าตัดกระดูกหัก ต้องทำตัวอย่างไร ?

 

จากตอนที่แล้วผมได้พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับกระดูกหักและการรักษาด้วยวิธีต่างๆวันนี้ผมจะมาแนะนำวิธีดูแลตัวเองและคำถามที่หลายๆคนมักสงสัยหลังได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

 

วิธีและอุปกรณ์ที่ใช้ผ่าตัดกระดูกหัก

            การผ่าตัดรักษากระดูกหักโดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีการยึดตรึงกระดูกด้วยโลหะภายใน โดยแผลผ่าตัดอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งกระดูกหัก ลักษณะการหักของกระดูก และเทคนิคในการผ่าตัด โดยในปัจจุบันมีเทคโนโลยีและเครื่องมือสมัยใหม่หลายชนิดที่ช่วยทำให้แผลผ่าตัดเล็กลงและมีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อยลงกว่าในสมัยก่อนมาก

            โลหะที่ใช้ในการยึดตรึงกระดูกส่วนใหญ่จะเป็นไทเทเนียมอัลลอยด์ หรือสแตนเลสสตีล ซึ่งมีคุณสมบัติคือสามารถอยู่ในร่างกายได้โดยไม่ทำปฏิกิริยาต่อร่างกาย แต่ก็มีการรายงาน ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้โลหะ (metal hypersensitivity) หลังผ่าตัดใส่เหล็กยึดตรึงกระดูก ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัว ผมเคยพบผู้ป่วยที่มีอาการนี้เพียงหนึ่งรายเท่านั้น โดยเป็นผู้ป่วยหลังการผ่าตัดดามเหล็กที่หน้าแข้ง และมีอาการเป็นผื่นแดง คัน บริเวณผิวหนังรอบๆแผลผ่าตัด ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายไป หลังจากผ่าตัดเอาเหล็กออกเมื่อกระดูกติดดี

 

การดูแลตัวเอง หลังผ่าตัดดามกระดูกหัก

            การดูแลแผลหลังผ่าตัดดามกระดูกหักนั้นก็เหมือนการดูแลแผลผ่าตัดปกติ คือควรระวังไม่ให้แผลโดนน้ำและทำแผลตามคำแนะนำของแพทย์ โดยทั่วไปหลังการยึดตรึงกระดูกและไม่มีการใส่เฝือกต่อผู้ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวข้อต่อบริเวณที่ผ่าตัดได้ทันที  การเคลื่อนไหวข้อหลังผ่าตัดโดยเร็วจะช่วยให้พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อกลับคืนมาใกล้เคียงปกติ ลดการยึดติดของข้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อไหล่ข้อเข่าและข้อมือที่มีโอกาสเกิดข้อยึดติดได้ง่าย

            หลังการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกของขาและสะโพกอาจจะมีการจำกัดการลงน้ำหนักขึ้นอยู่กับบริเวณที่หักและความแน่นหนาของการยึดตรึงกระดูก การเดินโดยที่ต้องจำกัดการลงน้ำหนักต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดินซึ่งมีชนิดต่างๆ

 

อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน หลังผ่าตัดดามกระดูกหัก

  1. ไม้เท้าค้ำรักแร้ (axillary crutches หรือ underarm crutches) เป็นอุปกรณ์ช่วยเดินที่ใช้ได้สะดวกสามารถรวบเก็บไว้ข้างเดียวและพกพาขึ้นรถได้ง่าย เมื่อเปรียบเทียบกับ ไม้ค้ำยันท่อนแขนพบว่า ต้องใช้กำลังในการออกแรงมากกว่า
  2. ไม้ค้ำยันท่อนแขน (canadian crutches หรือ forearm crutches) มีขนาดสั้นกว่าไม้เท้าค้ำรักแร้ เพิ่มความคล่องตัวในการเดินขึ้นลงบันได
  3. เครื่องช่วยเดินแบบสี่ขา (walker) เป็นอุปกรณ์ช่วยเดินที่มีความมั่นคงสูงที่สุดเพราะมีสี่ขาเหมาะสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีกำลังน้อย

 

อุปกรณ์พยุง หลังผ่าตัดกระดูกหัก
Axillary Crutches และ Forearm Crutches

 

อุปกรณ์พยุง หลังผ่าตัดกระดูกหัก
Walker 4 ขา

 

การฟื้นฟูและกายภาพ หลังผ่าตัดดามกระดูก

            การฝึกกำลังกล้ามเนื้อก็มีความสำคัญเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อของแขนหรือขาข้างที่ผ่าตัดได้ออกแรงอยู่เสมอทำให้กล้ามเนื้อไม่ลีบ การออกกำลังกายกล้ามเนื้อทำได้ทั้งวิธีเกร็งกล้ามเนื้ออยู่กับที่(isometric exercise)  และการออกแรงเคลื่อนไหวข้อต่อต้านแรงโน้มถ่วง(isometric exercise) กรณีที่เป็นการผ่าตัดแขนหรือต้นแขนเมื่อแผลหายดีและสามารถยกแขนต้านแรงโน้มถ่วงได้ดีก็ สามารถเพิ่มแรงต้านโดยการใช้น้ำหนักเบาๆเช่นดัมเบลล์ลูกเล็กๆหรือยกขวดน้ำออกกำลังได้

            โดยเฉลี่ยกระดูกจะค่อยๆซ่อมแซมตัวเองและติดดีภายในระยะเวลา 6 เดือน เมื่อกระดูกติดดีจะไม่มีอาการกดเจ็บบริเวณที่กระดูกหักและไม่เจ็บเวลาลงน้ำหนัก ร่วมกับการยืนยันโดยภาพถ่ายรังสีหลังจากกระดูกติดจะสามารถลงน้ำหนักได้เต็มที่ปล่อยไม้เท้าช่วยเดิน  และสามารถกลับไปออกกำลังกายได้ตามปกติ

 

หลังจากผ่าตัดดามกระดูกจนติดแล้ว จำเป็นต้องผ่าตัดเอาเหล็กออกหรือไม่

เป็นคำถามที่ผู้ป่วยทุกคนสงสัย ในปัจจุบันแนวทางการปฏิบัติของแพทย์ทั่วโลก แนะนำให้ผ่าตัดเอาเหล็กออกเฉพาะกรณีที่เป็นเหล็กดามภายนอก หรือ ลวดเหล็กยึดตรึงกระดูกที่มีปลายอยู่บริเวณผิวหนังเท่านั้น ส่วนเหล็กที่อยู่ภายในร่างกาย แนะนำให้เอาออกเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกปวด ตึง หรือขัด บริเวณที่มีโลหะอยู่ เนื่องจากโลหะ ไปขัดขวางการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อบริเวณนั้น

 

Reference

  1. Joseph Wawrzynski, Hypersensitivity to Orthopedic Implants: A Review of the Literature, Rheumatol Ther. 2017 Jun; 4(1): 45–56.
  2. Dagmar I Vos, Indications for implant removal after fracture healing: A review of the literature, European Journal of Trauma and Emergency Surgery 39(4) August 2013
  3. https://www.selfhealthcare.net/forearm-crutches-vs-underarm-crutches-which-one-to-pick/
  4. https://images.app.goo.gl/bv7JptnZL388TP9j8