เอ็นไขว้หน้าขาด ไม่ผ่าตัดได้มั้ย

เอ็นไขว้หน้าขาด ไม่ผ่าตัด

เอ็นไขว้หน้าขาด ไม่ผ่าตัดได้หรือไม่

 

มีคำถามเข้ามาว่าถ้าเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดจะไม่ผ่าตัดได้หรือไม่ อันนี้เป็นคำถามที่พบได้บ่อยนะครับเพราะคนไข้บางคนก็กังวลเกี่ยวกับผลการผ่าตัดว่าจะมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ก็ต้องมาดูกันว่าการรักษาแบบไม่ผ่าตัดจะทำอย่างไรได้บ้างแล้วเราจะเลือกเคสแบบไหนที่จะให้ผลการรักษาที่ดี 

อย่างที่ได้กล่าวในบทก่อนๆ ว่า เส้นเอ็นไขว้หน้ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของข้อเข่า ดังนั้น เมื่อเกิดการบาดเจ็บก็ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงของข้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราก็พบว่า ในผู้ป่วยส่วนหนึ่งก็ไม่ได้มีอาการข้อเข่าไม่มั่นคงหลังจากการบาดเจ็บเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด ซึ่งก็อาจจะมีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ได้แก่ปัจจัยในส่วนของผู้ป่วย ทั้งเรื่องอายุ ลักษณะงาน และลักษณะการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมที่ต้องใช้ความมั่นคงของเข่าสูง หากผู้ป่วยอายุมากไม่มีลักษณะกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่ต้องการความมั่นคงข้อเข่าสูง รวมทั้งไม่มีอาการเข่าหลวมหรือเข่าทรุดในชีวิตประจำวัน การเลือกรักษาโดยไม่ผ่าตัดก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกันครับ 

 

การรักษาเอ็นไขว้หน้าฉีดขาดแบบไม่ผ่าตัด

สามารถแบ่งตามช่วงเวลาหลังการบาดเจ็บได้ดังนี้ 

  1. Acute phase

คือการรักษาเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดหลังเกิดการบาดเจ็บในช่วง 2 สัปดาห์แรก ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมหัวเข่า จากเลือดที่ออกภายในข้อเข่า รวมถึงการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆเข่า ดังนั้นการรักษาเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดในช่วงนี้จะเน้นที่การลดการอักเสบ ได้แก่ การพัก รับประทานยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ประคบเย็น งดการลงน้ำหนัก ซึ่งโดยปกติแล้ว อาการปวดบวมจะค่อยๆ ลดลงภายใน 2 สัปดาห์ 

 

    2. Rehabilitation phase 

ระยะนี้จริงๆ ก็คาบเกี่ยวกับตอนแรก คือพออาการปวดบวมภายหลังเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเริ่มทุเลาลง ผู้ป่วยสามารถเริ่มการบริหารเข่าเบาๆ ได้เลยทันที โดยที่พยายามฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของเข่า (Motion exercise) รวมทั้งฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อต้นขา (Quadriceps strength) 

การบริหารประเภท Wall slide หรือปั่นจักรยาน (Stationay bike) ก็สามารถทำได้เมื่ออาการปวดบวมเริ่มทุเลา 

การเคลื่อนไหวของลูกสะบ้าก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ผู้ป่วยควรได้รับการฝึกให้ทำ Patellar gliding ด้วยตัวเองเป็นประจำ จะช่วยให้การเคลื่อนไหวของลูกสะบ้าดีขึ้น 

 

     3. Neuromuscular training phase 

อีกหน้าที่หนึ่งของเส้นเอ็นไขว้หน้าที่สำคัญมากๆ คือ Proprioception หรือ Joint position sense หรือแปลง่ายๆ คือ ช่วยให้เข่ารับความรู้สึกการเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งจะสำคัญมากในเรื่องการทรงตัว และความมั่นคงของข้อเข่า 

ผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด ที่จะเริ่มฝึกตัวเองในระยะนี้ต้องไม่มีอาการอักเสบ เข่าบวม สามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าที่สมบูรณ์ และมีกำลังกล้ามเนื้อรอบเข่าใกล้เคียงปกติ จึงจะให้เริ่มขึ้นตอนการฝึกการทรงตัวเป็นลำดับถัดไป

การฝึกการทรงตัวสามารถใช้ Balance board เป็นอุปกรณ์ช่วยฝึกการทรงตัว หรือหากผู้ป่วยไม่สามารถหาได้ การยืนบนเตียงนอนนุ่มๆ ก็เป็นวิธีง่ายๆ ที่ใช้ได้เช่นเดียวกัน 

การบริหารหัวเข่า เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด
Balance board

 

     4. Return to sport 

ผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดจะได้รับอนุญาตให้กลับไปเล่นกีฬา ก็ต่อเมื่อผ่านการฝึกการทรงตัวโดยที่ไม่มีอาการของข้อเข่าทรุดตลอดระยะเวลาการฝึก รวมทั้งไม่มีอาการอักเสบ งอเหยียดเข่าได้สุด มีกำลังกล้ามเนื้อต้นขาไม่น้อยกว่า 90% เมื่อเทียบกับข้างปกติ จึงจะได้รับอนุญาตให้กลับไปเล่นกีฬาได้ 

แต่ถ้าเป็นกีฬาที่ต้องมีการบิดหมุน แนะนำให้ผู้ป่วยใส่ Functional brace ที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงของข้อเข่าระหว่างการออกกำลังกาย 

 

brace acl tear เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด
Functional Brace

 

 

ผลลัพธ์ของการรักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดโดยไม่ผ่าตัด 

มีการรายงานผลที่ค่อนข้างดี เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาแบบผ่าตัด โดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ 

งานวิจัยการศึกษา ผู้ป่วยเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด

การศึกษาแบบ Retrospective ย้อนหลัง เปรียบเทียบผู้ป่วยเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด ติดตามอาการต่อเนื่องหลังการรักษาเป็นระยะเวลา 20 ปี 

กลุ่มการศึกษา เป็นผู้ป่วยเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดที่มีเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเพียงอย่างเดียว แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม

ในกลุ่มแรก จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดที่รักษาแบบไม่ผ่าตัด 

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มผู้ป่วยเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดที่รักษาโดยการผ่าตัด 

โดยผู้ป่วยที่รับการผ่าตัด จะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเข่าไม่มั่นคง หลังจากที่พยายามรักษาแบบไม่ผ่าตัดมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน 

การผ่าตัดเป็นเทคนิค Transtibial bone patellar bone tendon graft ซึ่งก็เป็นเทคนิคมาตรฐานของสมัย 20 ปีก่อนนะครับ 

ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มจะถูกจับคู่กันเพื่อเปรียบเทียบ คุณภาพชีวิตประจำวัน ความมั่นคงของข้อเข่า และภาพถ่ายรังสีเอ็กซเรย์เพื่อดูว่ามีกระดูกเข่าเสื่อมหรือไม่ 

 

สิ่งที่เราค้นพบจากการศึกษาการผู้ป่วยเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดนี้ ก็คือ 

กลุ่มที่รักษาแบบไม่ผ่าตัด และผ่าตัด ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเรื่องข้อเข่าเสื่อมที่ระยะเวลา 20 ปี พูดง่ายๆ คือ การผ่าตัดรักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดไม่ได้ช่วยป้องกันเรื่องหัวเข่าเสื่อมในระยะยาว

ความมั่นคงของข้อเข่า พบว่า กลุ่มที่ผ่าตัด มีความมั่นคงของข้อเข่าที่ดีกว่า แต่เมื่อเทียบเรื่องคุณภาพชีวิต พบว่า ทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 

ถ้าเราอิงจากข้อมูลในงานวิจัยนี้ เราอาจจะสรุปว่าการรักษาแบบไม่ผ่าตัดผู้ป่วยเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด ก็น่าจะให้ผลในระยะยาวที่น่าพอใจทีเดียวครับ 

 

ข้อสังเกตงานวิจัยผู้ป่วยเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดที่รักษาโดยไม่ผ่าตัด

สิ่งที่สำคัญ คือ เทคนิคการผ่าตัด ที่เป็นเทคนิคเมื่อ 20 ปีก่อน ทำให้การวางตัวของเส้นเอ็นไขว้หน้า ไม่เหมือนกับธรรมชาติ นั่นอาจจะส่งผลให้มีความไม่มั่นคงในเรื่องการบิดหมุนของข้อเข่าเกิดขึ้นได้บ้าง อาจจะเป็นข้อค้านสำคัญ ของการวิจัยนี้ 

ดังนั้น ในอนาคต ถ้ามีการเปรียบเทียบการผ่าตัดผู้ป่วยเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดในรูปแบบปัจจุบัน หรือการผ่าตัดในเทคนิคอื่นๆ เทียบกับการรักษาแบบไม่ผ่าตัดในระยะเวลายาวนานเช่นเดียวกับการศึกษานี้ ก็อาจจะทำให้ได้ข้อมูลที่ดีมากขึ้น ที่จะเป็นแนวทางในการตัดสินใจของผู้ป่วย 

 

สรุปแล้วผู้ป่วยเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดต้องผ่าตัดทุกรายหรือไม่ ?

โดยสรุปคือ ผู้ป่วยที่มีเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเพียงอย่างเดียว สามารถรักษาแบบไม่ผ่าตัดได้ โดยที่ให้ผลการรักษาที่ดีในระยะยาว ไม่พบว่ามีความแตกต่างในเรื่องคุณภาพชีวิตและการเกิดข้อเข่าเสื่อม 

อย่างไรก็ดี การเลือกผู้ป่วยเป็นสิ่งที่สำคัญ ผู้ป่วยที่มีไลฟ์สไตล์ไม่ผาดโผน อายุมาก และไม่ได้เล่นกีฬาเป็นอาชีพ อาจจะเป็นกลุ่มที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีจากการรักษาแบบไม่ผ่าตัด ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ป่วยควรได้รับข้อมูลการรักษาอย่างครบถ้วนก่อนการตัดสินใจครับ 

 

References

https://www.performancehealthacademy.com/media/pha/2010/02/dsc_2065.jpg

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29438635/

https://images.app.goo.gl/TEbzRo8SYmCBmCEy7
https://images.app.goo.gl/W6FfQbvFzFnKXVXe7