เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด ทำไมต้องทำ MRI , X-ray

mri เอ็นไขว้หน้าขาด

“เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด” ทำ MRI , X-ray ไปทำไม

 

หลังจากที่เราพูดถึงลักษณะการบาดเจ็บ อาการแสดง การตรวจร่างกายกันไปแล้ว 

สิ่งสำคัญต่อมาที่จะช่วยในการวินิจฉัย ก็คือ การส่งตรวจ X-ray และ MRI 

นอกจากเราจะยืนยันการวินิจฉัยการบาดเจ็บเส้นเอ็นไขว้หน้าแล้ว เรายังสามารถมองเห็นการบาดเจ็บร่วมอื่นๆ ที่สำคัญได้ด้วย 

 

X-ray ดูอะไรในเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด

 

การอ่านผล X-ray ในผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดนั้นนั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว “มักจะไม่พบความผิดปกติใดๆ”

โดยความผิดปกติที่อาจจะพบได้บ้าง ได้แก่

  • อาการบวมน้ำในเข่า (Effusion) จะเป็นลักษณะเงาดำที่บริเวณเข่า ในภาพ X-ray ทางด้านข้าง

 

x-ray เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด - 3
อาการบวมน้ำในเข่า (Effusion) จะเป็นลักษณะเงาดำที่บริเวณเข่า

 

  • Segond fracture

หมายถึงลักษณะกระดูกหักที่เกิดขึ้นที่ตำแหน่งขอบด้านข้างของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia bone)

ซึ่งเป็นลักษณะกระดูกหักที่สัมพันธ์กับเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดได้มากถึง 75-100% เลยทีเดียว 

 

Segond fracture
Segond fracture

 

  • ACL avulsion fracture
  • เป็นอีกหนึ่งลักษณะกระดูกหักที่พบได้ ซึ่งมักจะพบในคนอายุน้อยๆ หรือในเด็ก เพราะเชื่อว่า กระดูกที่เป็นตำแหน่งจุดเกาะของเส้นเอ็นไขว้หน้า มีความแข็งแรงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเส้นเอ็นไขว้หน้า 

ลักษณะการบาดเจ็บในรูปแบบนี้ จะพบในการบาดเจ็บแบบเข่าแอ่น (Hyperextension knee) หรือถูกกระแทกอย่างแรงที่กระดูกต้นขาในขณะที่เข่าอยู่ในท่างอ ทำให้เกิดแรงกระชากอย่างรุนแรงของเอ็นไขว้หน้า ทำให้กระดูกที่เป็นจุดเกาะแตกหัก 

 

x-ray เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด - 3
ACL Avulsion Fracture

 

ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว ภาพจาก X-ray นั้น อาจจะไม่พบความผิดปกติใดๆ ดังนั้น การตรวจเพิ่มเติมด้วยการทำ MRI จึงเป็นวิธีมาตรฐานในปัจจุบันที่จะวินิจฉัยการบาดเจ็บเส้นเอ็นไขว้หน้า 

 

 เราจะเห็นอะไรบ้างจาก MRI ในผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด

 

ในภาพ MRI scan เราจะสามารถดูลักษณะเส้นเอ็นไขว้หน้าที่ฉีกขาด รวมถึงการบาดเจ็บของอวัยวะอื่นๆในหัวเข่าได้ละเอียดมากขึ้น โดยลักษณะภาพ MRI ในผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเรามักจะพบความผิดปกติดังนี้

  1. มีการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าหรือ ACL
  2. มีร่องรอยกระดูกช้ำที่บริเวณกระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้ง (Lateral femoral condyle และ Posterolateral tibial plateau)
  3. เส้นเอ็นไขว้หลังหย่อน (PCL buckling sign) 
  4. มีการฉีกขาดของหมอนรองเข่าทั้งทางด้านในและด้านนอก (Meniscus torn) 
  5. พบการบาดเจ็บของเส้นเอ็นไขว้หลัง เส้นเอ็นประกบทั้งทางด้านนอกและด้านใน (PCL and collateral ligament torn) 
  6. มีการบาดเจ็บของกระดูกอ่อน (Cartilage injury) 

 

การฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าหรือ ACL
การฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าหรือ ACL

 

 

การฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าหรือ ACL
รอยกระดูกช้ำที่บริเวณกระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้ง

 

mri เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด
เส้นเอ็นไขว้หลังหย่อน (PCL buckling sign)

 

 

จะเห็นว่าทั้งภาพ X-ray และ MRI ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบาดเจ็บได้อย่างมากมาย ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในการวินิจฉัยและการวางแผนการรักษาต่อไป ในครั้งหน้าผมก็จะมาเล่าให้ฟังถึงแนวทางการรักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดว่าจะต้องรักษากันอย่างไรนะครับ