วิ่งมากเกินไป เสี่ยงกระดูกหักจริงหรือ?

กระดูกหัก-นักวิ่งมาราธอน

ฝึกวิ่งมาราธอนมากเกินไป เสี่ยงกระดูกหักง่ายจริงหรือไม่ ?

 

            ช่วงนี้กระแสการออกกำลังกายกำลังมาแรง โดยเฉพาะกีฬาวิ่ง เพราะเป็นกีฬาที่ไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ เวลา และอุปกรณ์ นักวิ่งหน้าใหม่บางส่วนก็เริ่มพัฒนาจากการวิ่งเบาๆเพื่อสุขภาพมาเป็นการซ้อมวิ่งอย่างจริงจังเพื่อเป้าหมาย เช่นวิ่งจบระยะมาราธอน อัลตรามาราธอน หรือทำสถิติเวลาให้ดีขึ้น วิ่งให้เร็วขึ้น ซึ่งนักวิ่งกลุ่มนี้หลายๆท่านอาจจะเคยมีอาการบาดเจ็บจากการฝึกซ้อม ถ้าท่านมีอาการปวดบริเวณหน้าแข้ง สะโพกหรือบริเวณเท้า หลังจากการซ้อมวิ่งและอาการแย่ลงเรื่อยๆ  ขอเตือนว่าอย่าได้นิ่งนอนใจกับอาการเหล่านี้ เพราะอาจเป็นอาการเตือนของภาวะ Stress Fracture หรือ กระดูกหักล้า ก็เป็นได้

 

Stress Fracture กระดูกหักล้าในนักวิ่งมาราธอน

            ภาวะกระดูกหักล้า คือ การหักของกระดูกที่เกิดจากการใช้งานซ้ำๆ เช่น การวิ่งระยะไกลหรือการออกกำลังกายอย่างหนัก มักพบในนักกีฬา นักวิ่งระยะไกล และทหารที่อยู่ระหว่างการฝึกหนัก กลไกการเกิดโรค เกิดจากการที่กล้ามเนื้ออ่อนล้า และไม่สามารถรับแรงกระแทกที่เกิดจากการวิ่งหรือกระโดดซ้ำๆได้ จนทำให้เกิดการบาดเจ็บเล็กๆน้อยๆที่กระดูก ซึ่งโดยปกติร่างกายจะมีกลไกการซ่อมแซมของกระดูกซึ่งเรียกว่า bone remodelling เพื่อทดแทนเนื้อกระดูกเดิมด้วยกระดูกใหม่ แต่ถ้ากิจกรรมนั้นทำอย่างต่อเนื่องและทำติดต่อกันเป็นเวลานาน ไม่มีช่วงเวลาพักที่เพียงพอ กลไกของร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมกระดูกได้ทัน ก็จะเกิดการสะสมรอยร้าวเล็กๆที่กระดูก และพัฒนาเป็นกระดูกหักล้าขึ้น  นักวิ่งที่ซ้อมวิ่งอย่างหนัก และเพิ่มความเข้มข้นของการซ้อมเร็วเกินไป จะมีความเสี่ยงสูง ตำแหน่งที่เกิดกระดูกหักล้าได้บ่อยที่สุดคือที่กระดูกเท้า (metatarsal) กระดูกหน้าแข้ง (tibia) หรือกระดูกคอสะโพก (femoral neck)

 

กระดูกหน้าแข้งหัก นักวิ่งฝึกวิ่ง
กระดูกหน้าแข้งหัก

           

 

อาการกระดูกหักล้า ในนักวิ่งมาราธอน

อาการแรกเริ่มของกระดูกหักล้าคืออาการปวดเฉพาะที่บริเวณกระดูกที่หัก โดยจะมีอาการปวดมากขึ้นเรื่อยๆอย่างช้าๆ ขณะออกกำลังกาย อาการปวดจะหายไปเมื่อพัก เมื่อโรคเป็นมากขึ้นจะมีอาการปวดเวลาเดิน และกดเจ็บที่บริเวณกระดูก อาจมีอาการบวมที่หลังเท้ากรณีที่เป็นกระดูกหักล้าที่บริเวณเท้า ถ้ามีอาการเหล่านี้แนะนำให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม

            การวินิจฉัยทำได้โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการตรวจเพิ่มเติมด้วยภาพถ่ายรังสี ภาพรังสีแบบปกติจะเห็นรอยโรคเมื่อกระดูกหักเป็นระยะเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ และมีรอยโรคมากแล้ว ถ้าผู้ที่มีกระดูกหักล้ายังคงฝืนออกกำลังกายไปเรื่อยๆ อาจทำให้เกิดกระดูกหักได้ในที่สุด

 

กระดูกหน้าแข้งหัก นักวิ่งฝึกวิ่ง x-ray
X-ray เห็นการหนาตัวของกระดูกหน้าแข้ง ในนักวิ่งที่มีอาการกระดูกหักล้า หรือ Stress Fracture

 

การรักษากระดูกหักล้า ในนักวิ่ง

            การรักษากระดูกหักล้า คือ พักการออกกำลังกายโดยการวิ่งหรือเล่นกีฬาเป็นระยะเวลา 2-3 เดือน เพื่อให้กระดูกได้ซ่อมแซมตัวเอง ระหว่างนี้ยังสามารถเดินลงน้ำหนักได้ แต่ไม่ควรเดินมากจนเกินไป และสามารถออกกำลังแบบที่ไม่มีการลงน้ำหนักทดแทน เช่น การว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยานอยู่กับที่ เพื่อคงสภาพความฟิตของร่างกาย เมื่ออาการปวดหายสนิท และกระดูกสมานกันดีแล้ว จึงจะเริ่มกลับมาวิ่งหรือเล่นกีฬาแบบเบาๆ โดยค่อยๆเพิ่มความเข้มข้นของการออกกำลังกายทีละน้อย

            ผมจะมาเล่าประสบการณ์ของตัวเอง เกี่ยวกับการซ้อมวิ่ง จนเกิดกระดูกหักล้า และเล่าการดูแลตัวเองหลังจากนั้น ในตอนต่อไปครับ

 

References

https://images.app.goo.gl/ZNp1eb7U8epb8L9y8

https://images.app.goo.gl/s2FwSqy9LRQawrwg9

https://pin.it/4k9oPxD